ศาลาพระแก้วมรกตและพระแก้วหยกขาวจักรกกรด

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2566

นัฐวรรณ ศรีพระรัตนตรัย ที่ปรึกษาการเงินและการลงทุน Nattawan Spr

เพชรแม้ตกหล่นอยู่ในโคลนตรมย่อมต้องคือเพชรวันยังค่ำ ถึงแม้ว่าบางครั้งที่เราต้องอยู่ตามลำพังคนเดียวนั้น ไม่ได้หมายความว่าเราถูกโดดเดี่ยวเดียวดายหรอกนะ แต่นั่นหมายถึงเรามีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะสามารถยืนหยัดด้วยตัวของเราเองได้ตั่งหากเล่า เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ นั่นแหละเป็นโอกาสให้เราแสดงศักยาภาพอันแท้จริงที่เรามีอยู่ออกมาว่าเราจะสามารถก้าวผ่านปํญหาทั้งปวงไปสู่จุดหมายปลายทางได้หรือไม่ และถ้าเราสามารถก้าวผ่านอุปสรรคทั้งหลายไปยืนอยู่ที่จุดหมายปลายทางได้ เมื่อนั้นแหละเราย่อมได้ชื่อว่าเพชรในโคลนตรม....ปรัชญาชีวิตจาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย
ป่วยกายรักษาด้วยหมอ ป่วยใจรักษาด้วยธรรม ต้องการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้สุขสบายในบั้นนปลาย ก็ต้องปรึกษาที่ปรึกษาการเงินและการลงทุน....ปรัชญาชีวิตจาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย
#รางวัลแห่งความสำเร็จ ย่อมได้มาจากความใฝ่ฝันเสมอ ความใฝ่ฝันย่อมเป็นแรงบันดาลใจให้ก้าวเดินต่อไปตามรอยที่ฝัน ถึงแม้ภููเขาจะสูง ท้องฟ้าจะกว้าง ทะเลจะลึก เราก็สามารถก้าวเดินผ่านไปได้ด้วยแรงบันดาลใจที่ดี ทุกคนย่อมมีความใฝ่ฝันที่แตกต่างกันออกไป และทุกความใฝ่ฝันย่อมเป็นไปได้เสมอ ฉะนั้นจงฝันให้กว้างไกลแล้วก้าวเดินต่อไปให้ถึงปลายทางแห่งความใฝ่ฝัน ปรัชญาชีวิตจาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย
ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ย่อมได้มาจากการต่อสู้ที่ขาวสะอาดฉันใด ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ย่อมมีได้ต่อบัณฑิตที่ฝึกตนดีแล้วฉันนั้น....ปรัชญาชีวิตจาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย
ประตูที่ปิดแน่นย่อมเปิดออกได้ฉันใด ปัญหาหนักๆก็ย่อมแก้ไขได้ฉันนั้น ปัญหาไม่ใช่ที่สุดของชีวิต ผู้พิชิตปัญหาได้ต่างหาก คือคำตอบสุดท้ายของการเดินทาง สู่หนทางแห่งชัยชนะอย่างแท้จริง
เกิดเป็นคนไม่รักดีดีไม่ได้ อายวัวควายใช้ไถนาไร้ราศี เกิดเป็นคนดีไม่ได้ไม่ใฝ่ดี เกิดทั้งทีดีไม่ได้ก็อายคน เกิดเป็นคนถ้ารักดีย่อมดีได้ ไม่ต้องอายควายและวัวมีราศี เกิดเป็นคนทำดีได้ถ้าใฝ่ดี เกิดทั้งทีดีให้ได้ไม่อายคน
ของที่พิเศษ ย่อมมอบให้ในกรณีที่พิเศษ กับบุคคลที่พิเศษ คนที่พิเศษคือคนที่เก็บเอาไว้ภายในใจ ไม่ว่าคนๆนั้นจะอยู่ ณ.ที่แห่งใด คนๆนั้นก็เป็นคนสำคัญและอยู่ในใจของเราตลอดไป...จากสุธี ศรีพระรัตนตรัย
ดินย่อมแตกระแหงเพราะขาดน้ำในหน้าร้อนฉันใด ใจย่อมห่อเหี่ยวเพราะขาดกำลังใจในยามเมื่อพบเจอกับอุปสรรคและปัญหามากมายฉันนั้น กำลังใจถึงแม้ว่าจะมีสักร้อย สักพัน ก็ไม่สำคัญเท่ากับหนึ่งกำลังใจจากคนที่เข้าใจ รู้ใจ และจริงใจ......ปรัชญาชีวิตจาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย
หนึ่งดวงใจปลูกความรักผูกพันจิต ร้อยชีวิตผูกดวงใจให้แน่นหนา มอบความรักมอบความสุขความเมตตา ใจห่วงหาใจห่วงใยใจอาทร หนึ่งดวงใจแม่มอบให้แก่ลูกรัก หนึ่งใจรักหนึ่งห่วงใยหนึ่งห่วงหา เฝ้าถนอมกล่อมเลี้ยงดูอุ้มชูมา ยากจะหารักสิ่งใดมาเปรียบเปรย สายสัมพันความห่วงใยไม่เคยขาด ไม่เคยพลาดจากดวงใจให้หมองศรี เกิดกี่ภพเกิดกี่ชาติเกิดกี่่ที รักแม่นี้รักคงอยู่คู่ลูกเอย .....จาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย
รักของใครใครไหนอื่นเสมอเหมือน ช่างเป็นรักที่แชรเชือนหย่อนยานแท้ รักของใครที่หย่อนยานย่อมผันแปร ไม่รักแท้เหมือนของแม่แท้มั่นคง .....ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย
เส้นทางของชีวิตที่ราบเรียบ บางช่วงอาจขรุขระมีหลุมมีบ่อไม่ปลอดภัยสำหรับเดินทางเสมอไป คนที่คิดว่าดี ที่คิดว่าเป็นที่พึ่งของเราได้ อาจผันแปรเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถาณกาล โบราณเขาจึงกล่าวเอาไว้ว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน.....ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย
พระใดไหนเล่าสูงสุด พระพุทธพระธรรมทรงศรี พระสงฆ์สาวกบารมี สูงเด่นสูงค่าน่าชม พระคุณแม่พ่อสง่า สูงเด่นสูงค่าสูงส่ง สมควรลูกลูกทุกคน ก้มกราบพนมวันทา .....ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย
แสงอาทิตย์ส่องแสงให้ความอบอุ่นในเวลากลางวัน แสงจันทร์ส่องสว่างนำทางในเวลากลางคืน ส่วนแสงแห่งความรักความเมตตาอันบริสุทธิ์ที่มีต่อบุตร ย่อมส่องสว่างกลางใจบุตรทั้งกลางวันและกลางคืน
ความจริงใจใครเล่าจะเท่ากับพ่อแม่ ก้มกราบพระแท้ พระเทียมที่ไหนก็ไม่อุ่นใจเท่ากับกราบเท้าแม่ของตน พระที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง จริงใจ และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อลูกได้ตลอดเวลา.....จาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย
พีระมิดที่สูงตระหง่านเหยีดท้องฟ้า ย่อมตั้งขึ้นได้เพราะมีฐานที่มั่นคงฉันใด ชีวิตที่มั่นคงยั่งยืนในปั้นปลายได้ เพราะเกิดจากการบริหารจัดการๆเงินที่ดีในปัจจุบันฉันนั้น....ปรัชญาชีวิตจาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย
ความแน่นอนกับความไม่แน่นอน ก็เหมือนกับเหรียญที่มี 2 หน้า โยนขึ้นท้องฟ้า เพียงชั่วพริบตา พลิกไปพลิกมา ไม่รู้ว่าจะออกด้านใด ......ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย
นายขมังธนูยิงลูกศรที่นายช่างศรผู้มีความชำนาญดัดลูกศรให้ตรง พลุ่งไปในอากาศ ย่อมตรงกลางจุดเป้าหมายฉันใด ผู้วางแผนบริหารจัดการๆเงินที่ดีในปัจจุบัน ย่อมมีชีวิตที่มั่นคงในบั้นปลายฉันนั้น
ฝนย่อมรั่วรดเรือนเพราะช่างมุงหลังคาไม่ดีฉันใด ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในบั้นปลายอย่างมากมาย เพราะเกิดจากการบริหารจัดการๆเงินในปัจจุบันที่ไม่ดีฉันนั้น. มาเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตตนเองและครอบครัว ด้วยปรึกษาที่ปรึกษาการเงินและการลงทุน.....ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย
ที่พึ่งใดไหนเล่าพึ่งได้จริง ได้ทุกสิ่งพึ่งได้ดั่งใจหมาย ที่พึ่งใดพึ่งได้จนต้วตาย พึ่งสหายพึ่งพระหรือพึ่งเณร พึ่งบิดามารดาพึ่งได้แน่ พึ่งรักแท้พึ่งได้ดั่งใจหมาย พึ่งพระพุทธพระธรรมจิตสบาย พึ่งสหายพึ่งได้เพียงชั่วกาล พึ่งตัวเองดีเลิศประเสริฐแท้ พึ่งได้แน่ดีกว่าพึ่งไหนไหน พึ่งสองขาสองแขนหนึ่งหัวใจ พึ่งเรื่อยไปจนสิ้นชิวินเอย.....ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย
ปัญหามีหลากหลายปัญหา มีทั้งปํญหาที่แก้ไขง่าย ปํญหาที่แก้ไขยาก ปํญหาที่แก้ไขไม่ได้เลยเพราะเป็นไปตามผลของกรรม ปํญหาที่แก้ไขง่ายก็แก้กันไป ปํญหาที่แก้ไขยากต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ผู้เชียวชาญเฉพราะทางในการแก้ไขปัญหานั้น ถ้าเราแก้ไขปัญหาไปแบบไม่รู้ แก้ปัญหาไปแบบผิดๆ สุดท้ายก็กลายเป็นลิงแก้แห เพราะยิ่งแก้ยิ่งวุ่น ยิ่งแก้ปัญหายิ่งมากขึ้น เท่านั้นเอง เราสามารถสร้างความแน่นอนมั่นคงในชีวิตของเราได้ ด้วยปรึกษาทึ่ปรึกษาการเงินและการลงทุน......จาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

ศาลาพระแก้วมรกตและพระแก้วหยกขาวจักรกรด (ธรรมทานจาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย7)

อานิสงส์ของการบูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยดอกไม้


           ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศ ย่อมสว่างกว่าหมู่ดาวทั้งปวงในโลกด้วยรัศมีฉันใด บุคคลสมบูรณ์ด้วยศีล มีศรัทธาก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวงในโลกด้วยจาคะ
           เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้าปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินที่ดอนและที่ลุ่มฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยทสนะเป็นบัณฑิตก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วยฐานะ 5 ประการ คือ อายุ วรณะ สุข ยศ และเปรี่ยมด้วยโภคะ ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ ในปรโลก ดั่งเช่นสุชาตเทพบุตรที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้บูชาพระบรมสารีริกธาตุด้วยดอกไม้ ส่งผลให้ได้ไปเกิดอยู่บนสวรรค์ ดั่งที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก  
       ในครั้งที่พระโมคคัลลานเถระได้เที่ยวจาริกไปในเทวโลก ได้พบเทพบุตรองค์หนึ่ง จึงได้เอ่ยถามเทพบุตรนั้นว่า
          ท่านขึ้นนั่งบนคอเทพกุญชรเผือกผ่อง มีงางอนงาม ทั้งกำลังวังชาว่องไวยิ่ง สมเป็นมิ่งคชสารยอดเยี่ยม ผูกสอดไปด้วยสายรัดประคดทองอันเรียบร้อย เลื่อนลอยมาในอากาศเวหา ที่งาทั้งสองของคชสาร มีสระโบรกขรณี 4 เหลี่ยม เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใสสะอาด อันบุญกรรมธรรมชาติเนรมิตให้ดาดาษไปด้วยประทุมสลอน มีดอกอ่อนตูมบานแย้มเกสร ในดอกปทุมทุกดอกมีหมู่นางเทพอักสรออกมาบรรเลงดนตรีฟ้อนรำ นำให้เกิดความรื่นเริงใจ ท่านเกิดเป็นเทพบุตร มีฤทธิ์อานุภาพอันยิ่งใหญ่ เมื่อท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ ท่านมีอานุภาพอันรุ่งเรือง และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญกรรมอะไร
            เทพบุตรนั้นอันมีพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า
         เมื่อชาตก่อน ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ได้นำเอาดอกไม้ 8 กำ ไปบูชาที่พระสถูปของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ด้วยมือทั้งสองของตน ข้าพเจ้าจึงมีวรรณะงามเช่นนี้ เพราะบุญกรรมนั้น
           พระเถระกล่าว ว่าพระอาทิตย์ที่มีรัศมีตั้งพัน โคจรไปในท้องฟ้า ส่องแสงสว่างไปทั่วทิศฉันใด รถใหญ่ของท่านนี้ก็ฉันนั้น วัดโดยรอบยาวได้ร้อยโยชน์ หุ้มด้วยแผ่นทองคำรอบด้าน งอนรถนั้นวิจิตรด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณีลอยจำหลักเป็นรูปดอกไม้ลดาวัลย์ ตระการไปด้วยแก้วไพฑูรย์ อันบุญกรรมตกแต่งแล้ว งามเพลิดแพร้วด้วยทองคำและเงิน และปลายงอนรถนี้อันบุญกรรมตกแต่งด้วยแก้วไพฑูรย์ แอกรถวิจิตรไปด้วยแก้วทับทิม สายเชือกล้วนแล้วไปด้วยทองคำและเงิน อนึ่งม้าเหล่านี้ฝีเท้าว่องไวดังใจ งามรุ่งเรือง ท่านยืนอยู่บนรถทองดูองอาจ ดุจท้าวสักกเทวราชผู้เป็นใหญ่กว่าหมู่ทวยเทพ ผู้ทรงราชรถอันเทียมด้วยม้าอาชาไนยตั้งพันฉะนั้น อาตมาถาม ขอท่านผู้มียศ ผู้ฉลาดรถอันยิ่งใหญ่นี้ ท่านได้มาอย่างไร
          สุชาตเทพบุตรตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ชาติก่อน ข้าพเจ้าเป็นราชบุตร นามว่าสุชาตกุมาร พระคุณเจ้าอนุเคราะห์สั่งสอนข้าพเจ้าให้ตั้งอยู่ในความสำรวม และพระคุณเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าจะสิ้นอายุ ได้ให้พระบรมสารีริกธาตุแก่ข้าพเจ้า โดยกล่าวว่า ท่านจงบูชาพระบรมสารีริกธาตุนี้เถิด พระบรมสารีริกธาตุนี้จักเป็นประโยชน์แก่ท่าน ข้าพเจ้าได้บูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้นด้วยของหอมและพวงมาลัย ขวนขวายในการทำบุญให้ทาน ละร่างมนุษย์นั้นแล้ว ได้ไปบังเกิดในสวนนันทวัน เดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ามีหมู่นางอัปสรฟ้อนรำ ขับร้องห้อมล้อม รื่นเริงอยู่ในสวนนันทวันอันประเสริฐ น่ารื่นรมย์ เกลือนกล่นไปด้วยหมู่กุณชรชาตินานาชนิด
      ฉะนั้นเราจะเห็นกันได้ว่า อานิสงส์ของการได้สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุนั้น ย่อมได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่สุดที่จะประมาณมิได้  ฉะนั้นจึงขอเชิญชวนท่านผู้มีจิศรัทธาทุกท่าน ได้ร่วมสักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาพระแก้วมรกต เพื่อเป็นบุญกุศลและเป็นทุนหรือเสบียงไปสู่ภพหน้า อย่างเช่นดังสุชาตเทพบุตรที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

      ชีวิตย่อมมีค่า เกิดมาต้องมีผล(คุณงามความดี) เกิดดับย่อมมีแก่ทุกๆคน จะจากลาอีกหนด้วยลายเซ็นที่ดี
 ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อานิสงส์ของการสร้างพระไตรปิฎก


        องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า การสร้างพระไตรปิฎกถวายแก่พระพุทธศาสนา ย่อมได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่สุดที่จะประมาณมิได้ พระไตรปิฎกจัดว่าเป็นรากเหง้าเป็นเค้ามูลแห่งพระศาสนา เฉพาะอานิสงส์แห่งอักขระเพียงแค่ตัวเดียว ก็มีอานิสงส์เหมือนกับได้สร้างพระพุทธรูปถึงหนึ่งองค์เลยทีเดียว เพราะอักขระที่จารึกในพระไตรปิฎกยังประดิษฐานอยู่ตราบนานเท่าใด ก็เท่ากับพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่อยู่ตราบนั้นนั่นเอง 
            ผูุ้สร้างพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเขียนเองหรือจ้างคนอื่นเขียนก็ดี ล้วนย่อมได้รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ ย่อมสำเร็จถึงความปรารถนาทั้ง3ประการ ทั้งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และสุดท้ายย่อมถึงซึ่งนิพพานสมบัติ ดั่งที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกดังต่อไปนี้
            ในครั้งพุทธกาล พระพุทธองค์ได้ทรงประทับอยู่ในวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ณ.กรุงสาวัตถี ในครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระได้เข้าไปทูลถามพระพุทธองค์ถึงอานิสงส์ของการสร้างพระไตรปิฎก ซึ่งมีใจความดังต่อไปนี้
            ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าชนทั้งหลายให้พุทธศาสนายืนยาวถึง 5 พันวัสสา จะมีอานิสงส์เป็นประการใดพระพุทธเจ้าข้า
            พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสตอบว่า ดูกรท่านสารีบุตร ถ้าชนทั้งหลายมีใจเลื่อมใสเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปแล้วก็จักได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชถึง 8 หมื่น 4 พันกัลป์ ใช่แต่เท่านั้น เมื่ือเคลื่อนจากความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิแล้ว ก็จะได้เป็นพระราชา มีอนุภาพอีก 9 อสงไขย ต่อจากนั้นก็ได้เสวยสมบัติในตระกูลต่างๆเป็นลำดับไป คือตระกูลพราหมณ์ ตระกูลเศรษฐีคฤหบดี และเป็นเทวภูมิเทวดาอากาศเทวดาอย่างละ 9 อสงไขย ต่อแต่นั้นก็จะได้เสวยในสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นเป็นลำดับไป ชั้นละ 8 อสงไขย เมื่อจุติจากชั้นเทวโลกแล้ว มาถือกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะมีร่างกายบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นที่รักใคร่แก่คนทั้งหลายที่ได้พบเห็น ทั้งน้ำใจก็บริสุทธิ์สุจริตปราศจากบาปธรรมอกุศลทั้งปวง และเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมดังนี้เป็นต้น
          ดูกรท่านสารีบุตร เมื่อครั้งอดีตชาติ ตถาคตสร้างบารมีอยู่ ได้เกิดเป็นอำมาตย์ของพุทธบิดา แห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า ปุราณโคดม ในครั้งนั้นได้สร้างพระไตรปิฎกไว้ให้สืบองค์ และได้ตั้งความปรารถนา ขอให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเถิดในอนาคตกาลข้างหน้า สมเด็จพระปุราณโคดมพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า อำมาตย์ผู้นี้ต่อไปภาคหน้า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่าพระสมณโคดม ก็คือเราตถาคตนั่นเอง
 
   
       การที่จะหาคนดีมีธรรมในใจนั้น หายากยิ่งกว่าหาเพชรนิลจินดาเป็นไหนๆ ได้คนดีเพียงคนเดียวย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ เพราะว่าเงินเป็นล้านๆก็ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจเหมือนกับได้คนดีมาทำประโยชน์  เพราะว่าคนดีนั้นสามารถที่จะทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้และยั่งยืน คนดีแต่ละคนจึงมีค่ามากกว่าเงินเป็นก่ายกองและเห็นคุณค่าแห่งความดีมากกว่าเงิน ถึงแม้ว่าตัวเองจะจนก็ยอมจน ขอแต่ให้ตัวเป็นคนดีและขอให้โลกมีความสูข แต่คนโง่นั้นชอบเงินมากกว่าคนดีและความดี
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโด

อานิสงส์ของการได้มีส่วนร่วมสร้างพระเจดีย์


       การที่ผู้หนึ่งผู้ใดมีจิตเลื่อมใสศรัทธา บริจาคทรัพย์ร่วมสร้างพระเจดีย์ให้แก่วัดวาอาราม เป็นการเทิดทูนพระพุทธศาสนาไว้มิให้สูญสิ้น ถือว่าเป็นการสร้างกุศลอันประเสริฐ เพราะพระเจดีย์นั้นถือว่าเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ยังความเลื่อมใสศรัทธาแก่เหล่าชนทั้งหลายที่ได้พบเห็น ได้น้อมนมัสการสืบต่อไปอีกนาน ผู้ทำบุญกุศลเช่นนี้ย่อมได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ไพศาล ย่อมประสบแต่ความสุขความเจริญ บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และลาภยศสรรเสริญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า และท้ายสุดได้เข้าถึงพระนิพพานสืบต่อไป อย่างเช่นท่านพระชฎิลเถระที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
         ในกาลสมัยของพระกัสสปะพระพุทธเจ้า ในครั้งนั้นมหาชนทั้งหลาย ต่างพากันร่วมใจกันก่อสร้างพระเจดีย์เพื่อถวายพระกัสสปะพระพุทธเจ้า ใช้เวลาสร้างกันอยู่นานยังไม่เสร็จ เหลือมุขด้านหน้าของพระเจดีย์ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง เพราะขาดทอง พระขีณาสพรูปหนึ่งจึงได้เข้าไปในหมู่บ้านเพื่อบอกบุญ มหาชนทั้งหลายต่างพากันร่วมบริจาคอย่างมากมาย ในครั้งนั้นมีนายช่างทองผู้หนึ่ง มีจิตใจที่เลื่อมใสศรัทธา ได้นำหม้อดอกไม้ทองคำมาร่วมบริจาคทำบุญ โดยบรรจุำหม้อดอกไม้ทองคำนั้นไว้ภายในพระเจดีย์
          และด้วยผลบุญกุศลที่มีในครั้งนั้นนั่นเอง เมื่่อนายช่างทองผู้นั้นละโลกนี้ไปแล้ว ก็ได้ท่องเที่ยวไปเกิดในมนุษย์ภูมิและเทวโลกหลายภพชาติ จนมาถึงในชาติสุดท้าย ท่านก็ได้มาเกิดในสมัยของพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า ท่านเกิดในเมืองตักสิลา ชื่อว่าชฎิล เมื่อเจริญวัยได้แต่งงาน และปลูกบ้านอย่างงดงาม ในวันแรกของการแต่งงาน ทันทีที่ชฎิลก้าวเท้าเหยียบธรณีเข้าประตูบ้านเท่านั้น ด้วยผลบุญกุศลที่มีในอดีต ที่ท่านเคยบรรจุหม้อดอกไม้ทองคำไว้ภายในพระเจดีย์ในสมัยของพระกัสสปะพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้ส่งผลให้ภูเขาทองสูงถึง ๘๐ ศอก ผุดขึ้นที่ด้านหลังบ้านของท่านอย่างน่าอัศจรรย์ ครั้นพระราชารู้ข่าว จึงมอบฉัตรตำแหน่งเศรษฐีให้แก่ท่านชฎิล และแต่งตั้งให้เป็นเศรษฐีประจำเมืองตักสิลา
          หลังจากชฎิลเศรษฐีได้ใช้สอยโภคสมบัติอย่างมีความสุข อยู่มาไม่นาน ท่านก็พิจารณาด้วยปัญญาเห็นว่า ทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่มีอยู่น้ันเป็นของไม่เที่ยงแท้ ย่อมผันแปลเปลี่ยนไปได้ เกิดความเบื่อบ่าย จึงได้ออกบวชในสำนักของพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า ท่านบวชได้ไม่นานก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์อย่างง่ายดาย ก็เพราะด้วยผลบุญที่ท่านได้บรรจุหม้อดอกไม้ทองคำไว้ภายในพระเจดีย์ในสมัยของพระกัสสปะพระพุทธเจ้านั่นเอง


      วันและคืนย่อมก้าวเดินไปข้างหน้า กาลเวลาย่อมไม่เดินถอยหลัง สังขาร(สิ่งที่ปรุงแต่งทั้งหลาย)ล้วนไม่จีรัง ย่อมเป็นไปตาม อิทัปปัจจัยตา(เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ย่อมเกิด เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ย่อมดับ)
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อานิสงส์ของการภาวนาพุทธคุณ


       ในกาลสมัยของพระกัสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว มหาชนทั้งหลายต่างพร้อมใจกันสร้างพระเจดีย์ทองประดับประดาด้วยรัตนะ ๗ ประการ เพื่อบูชาพระพุทธองค์
         ในครั้งนั้นมีหมองูคนหนึ่ง มีอาชีพแสดงงู ได้เปิดการแสดงให้ชาวบ้านชมกัน ครั้นพอตกกลางคืน หมองูคนคนนั้นได้ยินเสียงชาวบ้าน ท่องคำว่า นโม พุทฺธาย รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจเป็นอย่างมาก เพราะตนไม่ศรัทธาในพระรัตนตรัย(มิจฉาทิฏฐิ) แต่เมื่อได้ยินเสียง นโม พุทฺธาย บ่อยเข้าๆ ตนก็ท่องตามในทำนองล้อเลียน โดยไม่ได้มีความเลื่อมใสศรัทธาแต่อย่างใด
         อยู่มาวันหนึ่ง หมองูได้ออกจากบ้านไปหางูเพื่อใช้ประกอบอาชีพ เขาเดินเข้าไปในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองของพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พบพญานาคตัวหนึ่ง กำลังมานอบน้อมพระเจดีย์ทอง จากนั้นก็ไปพักอยู่ที่จอมปลวกใกล้ๆ พระเจดีย์ หมองูจึงร่ายมนตร์หวังจะจับพญานาคราช พญานาคราชได้ยินเสียงมนตร์ รู้สึกโกรธ ไม่พอใจที่จะมีคนมาประทุษร้าย จึงคิดจะฆ่าหมองู ได้เลื้อยไปตามเสียงมนตร์ หมองูเห็นว่ามนตร์ของตนไม่สามารถทำอันตรายพญานาคราชได้ ก็ตกใจกลัว รีบวิ่งหนีอย่างสุดชีวิต พญานาคได้เลื้อยตามไปเพื่อหวังจะฆ่าให้ตาย ขณะที่หมองูกำลังวิ่งหนีอยู่นั้น ขาของเขาก็ได้ไปสะดุดก้อนหินล้มลง ด้วยความกลัวจึงได้อุทานออกมาว่า นโม พุทฺธาย ตามที่เคยพูดล้อเล่นอยู่บ่อยๆ
          เมื่อนาคราชได้ยินว่า คำนโม พุทฺธาย ที่หมองูอุทานออกมานั้น ด้วยใจที่มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธองค์เป็นอย่างมากนั้น ทำให้ใจของพญานาคที่มีความโกรธอยู่นั้น ก็เกิดความชุ่มชื่นเบิกบานขึ้นมาในทันที เหมือนเปลวไฟที่กำลังลุกโพลงโดนนํ้าเย็นราดรด ความโกรธจึงหายลง พญานาคราชจึงกล่าวกับหมองูว่า “เพื่อนเอ๋ย อย่ากลัวเราเลย บัดนี้เราถูกมนต์คือพุทธคุณของพระพุทธเจ้าเข้าแล้ว มนต์นั้นยังใจของเราให้ผ่องใสเบิกบานยิ่งนัก พร้อมทั้งเกิดความเลื่อมใสต่อท่านด้วย วันนี้เราจะให้เครื่องบรรณาการแก่ท่าน ขอท่านจงรับเครื่องบรรณาการจากเราด้วยเถิด”
          ครั้นพญานาคราชพูดจบ ก็เลื้อยเข้าไปเอาดอกไม้ทองคำ ๓ ดอกมามอบให้ พลางกล่าวว่า “ดอกไม้ทั้ง ๓ ดอกนี้ ดอกแรกจงนำไปบูชาพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นบุญของท่าน ดอกที่สองจงบูชาพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นบุญของเรา ส่วนดอกที่สามให้ท่านนำไปขายเพื่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่เป็นสุขเถิด ท่านอย่าได้ประมาทในบุญทั้งหลาย จงเร่งรีบสั่งสมบุญเถิด และดำรงชีวิตอยู่ด้วยคุณงามความดี ให้ละกรรมอันต่ำช้านั้นเสีย แล้วเลิกเบียดเบียนผู้อื่นเถิด" จากนั้นพญานาคได้เลื้อยจากไปสู่นาคพิภพตามเดิม
           ฝ่ายหมองูเมื่อเห็นอานุภาพของคำว่า นโม พุทฺธาย จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย และดีใจที่ได้ลาภก้อนใหญ่ จึงได้ทำตามที่พญานาคราชแนะนำ ตั้งตนอยู่ในศีลธรรม เลิกอาชีพหมองู ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย และหันมาประกอบแต่บุญกุศลอย่างเดียว (ทาน ศีล ภาวนา )ตลอดชีวิต เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว จึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยทิพย์สมบัติมากมายดั่งนี้แล


     มือย่อมปิดฟ้าไม่มิดฉันใด ใจย่อมปิดความชั่วที่คิดทำไว้ไม่ได้ฉันนั้น โลกนี้คือโรงละครให้สัตว์โลกแสดงร่วมกัน ใครจะรับบทดีหรือร้ายก็แล้วแต่ใจของแต่ละคนนั้น ทุกบท ไม่ว่าจะถูกหรือผิด เราเป็นผู้ลิขิด เลือกเล่นเอง
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

โทษของความตระหนี่(อานันทเศรษฐี)
       ชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องที่ยุ่งยากสับสนและจบลงด้วยเรื่องเศร้า อนึ่งชีวิตนี้เริ่มต้นและจบลงด้วยเสียงคร่ำครวญ เมื่อลืมตาขึ้นดูโลกเป็นครั้งแรก เราร้องไห้ และเมื่อจะหลับตาลาโลกเราก็ร้องไห้อีก หรืออย่างน้อยก็เป็นสาเหตุให้คนอื่นหลั่งน้ำตา เด็กร้องไห้พร้อมด้วยกำมือแน่น เป็นสัญญลักษณ์ว่าเขาเกิดมาเพื่อจะหน่วงเหนี่ยวยึดถือ แต่เมื่อจะหลับตาลาโลกนั้น ทุกคนแบมือออกเหมือนจะเตือนให้ผู้อยู่เบื้องหลังสำนึกและเป็นพยานว่า เขามิได้เอาอะไรไปด้วยเลย   ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงินทอง หรือของที่บุคคลหวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งทาส กรรมกร คนใช้ และที่อยู่อาศัยอื่นๆทั้งหมดนี้ บุคคลนำไปไม่ได้ ต้องทอดทิ้งไว้ทั้งหมด แต่สิ่งที่บุคคลทำด้วย กาย วาจา หรือด้วยใจนั่นแหละที่จะเป็นของเขา เป็นสิ่งที่เขาต้องนำไปเหมือนเงาตามตัว อย่างเช่นอานันทเศรษฐีที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏก
       อานันทเศรษฐีนั้นเป็นคนที่ตระหนี่ ไม่ยินดีในการบริจาคทาน สอนลูกของตนให้สะสมทรัพย์ไว้และไม่เคยแบ่งปันหรือให้ทานแม้แต่น้อยเลย และด้วยอำนาจของความตระหนี่นั้น ครั้นอานันทเศรษฐีตายลง ก็ได้ไปบังเกิดอยู่ในท้องของหญิงขอทานในตระกูลขอทาน หญิงขอทานนั้นเมื่อก่อนเคยไปขอทานก็มีแต่คนเมตตาสงสาร ให้อาหารพอยังชีพไปวันหนึ่งๆ แต่พออานันทเศรษฐีไปเกิดในท้องแล้ว ทำให้หญิงขอทานผู้นั้นยากจนยิ่งขึ้นไป ขอใครก็ไม่มีใครให้ ได้รับความทุกข์ยากลำบากมาก ต้องไปขอแบ่งอาหารจากเพื่อนมาทานด้วยกัน ครั้นอยู่ต่อมานางก็คลอดลูก ปรากฎว่าลูกของหญิงขอทานนั้น มีรูปร่างอัปลักษณ์ น่าเกลียด ตาโปน ปากเบี้ยว เท้าเก ผมหยิก
        เมื่อหญิงขอทานคลอดลูกแล้ว ก็อุ้มลูกไปเที่ยวขอทาน ก็ไม่มีใครเมตตาสงสารให้ทาน เพราะเด็กนั้นเป็นคนกาลกิณี เป็นคนจัญไรไม่มีวาสนา เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้นแม่จึงมอบกระเบื้องใส่มือให้แล้วบอกว่า เจ้าจงไปขอทานตามลำพังเถอะ เพราะเจ้าอยู่กับแม่ทำให้แม่ได้รับความลำบาก เด็กขอทานนั้นเที่ยวขอทานไปตามยถากรรม บังเอิญเข้าไปในบ้านของมูลสิริเศรษฐีผู้เป็นลูกชายในชาติก่อน มูลสิริเศรษฐีเป็นคนที่ตระหนี่เหมือนกับพ่อ เห็นคนขอทานเข้ามาจึงให้คนใช้ไล่ออกไป เด็กขอทานไม่ยอมออกไป คนใช้จึงฉุดลากไปไว้ที่กองอยากเยื้อข้างถนน
     พอดีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาบิณฑบาตเวลาเช้าในเมืองสาวัตถี เสด็จพร้อมพระอานนท์ ทรงเห็นเด็กขอทาน และทรงทราบด้วยญาณว่าเด็กขอทานผู้นี้คืออานันทเศรษฐีในชาติก่อน เป็นเจ้าของบ้านนนี้เอง แต่เป็นคนตระหนี่ จึงมาเกิดเป็นขอทาน จึงบอกมูลสิริเศรษฐีว่า เด็กขอทานผู้นี้คืออานันทเศรษฐีบิดาของท่านในชาติก่อน
        มูลสิริเศรษฐีโกรธต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงต้องการให้มูลสิริเศรษฐีพิสูจน์ความจริง จึงให้เอาเด็กขอทานไปรับประทานอาหารให้อิ่มเรียบร้อย ทรงใช้พุทธานุภาพบันดาลให้เด็กขอทานระลึกชาติได้ และขอให้บอกขุมทรัพย์ที่ฝังไว้แต่ชาติก่อน เด็กระลึกชาติได้และบอกขุมทรัพย์ที่ตนฝังเอาไว้
มูลสิริเศรษฐีได้ขุดดู ปรากฎว่าเป็นความจริง ได้พบทรัพย์สมบัติมากมาย จึงเชื่อว่าพ่อมาเกิดเป็นขอทาน จึงขอรับเลี้ยงเด็กเอาไว้ แต่เด็กขอทานนั้นไม่มีบุญวาสนา จึงไม่ยอมอยู่ในบ้านและยินดีไปเที่ยวขอทานตามยถากรรมของตน ทั้งนี้เพราะเหตุว่าไม่มีบุญวาสนา ไม่เคยทำบุญให้ทานแต่ชาติปางก่อนนั่นเอง
     ฉะนั้นเราจะเห็นกันได้ว่าคนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นแลย่อมมีแก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวความกระหายใดจึงไม่ให้ทาน ความหิวความกระหายนั้นนั้นแลย่อมถูกต้องคนตระหนี่ คนตระหนี่นั้นคือผู้ที่โง่เขลาทั้งชาตินี้และชาติหน้า อย่างเช่นอานันทเศรษฐีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

        ถ้าเราวิ่งหาสุข อาจได้ทุกข์ เพราะสุขและทุกข์ไม่ยั่งยืน สุขและทุกข์ก็เหมือนกับเหรียญที่มีสองหน้า พลิกกลับไปกลับมาหมุนเปลี่ยนไปตามผลของกรรม(สังขตธรรมคือธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น)
         สุขจริงแท้ อยู่ที่การทำใจให้ใสสงบ ยั่งยืนและมั่นคง(อสังขตธรรมคือธรรมที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น)
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

การบรรลุธรรมด้วยการพิจารณาการเกิดดับของแสงประทีป



      นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กล่าวเครื่องจองจำที่ทำด้วยเหล็ก ทำด้วยไม้ และทำด้วยหญ้า (เชือก) ว่าเป็นเครื่องจองจำที่มั่น นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวว่าความรักใคร่พอใจนักในแก้วมณีและกุณฑล และความห่วงอาลัยในบุตร ภริยา เป็นเครื่องจองจำที่มั่นคงยิ่งนัก ท่านผู้รู้กล่าวว่า เครื่องจองจำชนิดนี้มั่นคง มักฉุดลากลงที่ต่ำ คล้ายผูกไว้หลวมๆแต่แก้ยากนัก ผู้รู้ทั้งหลายจึงทำลายเครื่องจองจำนี้เสีย ละกามสุขออกบวชโดยไม่ไยดีอย่างเช่นนางกีสาโคตมีที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏก 
        นางกีสาโคตมี เดิมเกิดในสกุลคนเข็ญใจ ในกรุงสาวัตถี อยู่มาวันหนึ่ง มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งในเมืองสาวัตถีประสบเคราะห์กรรม คือเงินและทองกลายเป็นถ่าน แต่ด้วยบุญบารมีของนางกีสาโคตมี เมื่อนางกิสาโคตมีมาแตะถ่านเหล่านั้น ถ่านเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นเงินและทองเช่นเดิม เศรษฐีจึงสู่ขอนางมาเป็นลูกสะใภ้ ครั้นอยู่ต่อมานางคลอดบุตร เมื่อบุตรของนางอายุได้เพียงแค่ 3 ขวบ ก็ต้องมาตายจากนางไป นางเศร้าโศรกเสียใจ ร้องไห้ อุ้มลูกไปเที่ยวหาหมอให้ช่วยรักษา แต่ก็ไม่มีหมอที่ไหนจะช่วยรักษาให้ลูกของนางฟื้นขึ้นมาได้ นางจึงได้อุ้มศพลูกไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ.ที่ประทับ
        พระพุทธองค์ทรงตรัสว่ารักษาได้ แต่ต้องไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากหมู่บ้านที่ไม่มีคนเคยตายเลยมาให้ได้ก่อน นางดีใจอุ้มลูกไว้ที่อก เที่ยวเสาะแสวงหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดหลายหมู่บ้าน ปรากฏว่านางต้องผิดหวัง เพราะทุกๆหมู่บ้านนั้น ก็ล้วนแต่มีคนตายแล้วทั้งสิ้น ในที่สุดนางจึงได้ข้อสรุปว่า คนทั้งหลายได้มีความทุกข์เพราะปุตตวิปโยคมาแล้วแทบทั้งสิ้น มิใช่มีนางเพียงคนเดียวเท่านั้น ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของคนหรือของสิ่งมีชีวิต ไม่มีใครเกิดมาแล้วไม่ตาย การตายของบุตรตนจึงเป็นเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งของชีวิต ครั้นคิดได้แล้ว นางจึงทิ้งบุตรผู้หาชีวิตมิได้ไว้กลางป่า แล้วไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลขอบวช
      พระพุทธองค์ทรงให้นางบวชในสำนักภิกษุณี เมื่อทำการอุปสมบทแล้วท่านก็ได้บำเพ็ญจิตภาวนา โดยพิจารณาเห็นการเกิดตายของสัตว์ทั้งหลายก็เหมือนกับการเกิดดับของแสงประทีปนั่นเอง พระพุทธองค์ทรงทราบเช่นนั้น ทรงแผ่รัศมีมาปรากฎเฉพราะหน้าของนาง แล้วตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดตายอยู่เหมือนดวงประทีป แต่พอถึงนิพพานแล้วอาการอย่างนั้นก็ไม่ปรากฎอีกเลย แล้วทรงตรัสต่อไปว่า ผู้ใดพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ถึงแม้ว่าจะมีชีวิตอยู่เพียงแค่วันเดียว ก็ยังประเสริฐกว่าบุคคลผู้ไม่พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ถึงแม้จะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี เมื่อสาโคตมีภิกษุณีได้ฟังเช่นนั้น พิจารณาตาม จิตก็หลุดพ้น ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมด้วยปฎิสัมภิทา 4 ณ.ที่นั้นแล

        ฉะนั้นจะเห็นกันได้ว่า ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรดฉะนั้น

    ปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดลิ้น ปิดกาย(เมื่อกระทบสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพ)ไม่ปรุงแต่งใดๆ พร้อมทั้งเปิดใจ(มีสติระลึกรู้) ก้าวเดินต่อไป สู่ความสวัสดี
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อานิสงส์ของการให้ทานด้วยศรัทธา


      เมื่อจิตเลื่อมใสแล้วทักขิณาทานชื่อว่าน้อยย่อมไม่มี ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ให้แด่ผู้ที่ทรงศีลที่มีคุณธรรมอันสูงส่ง ถึงแม้ทรัพย์ที่ให้ทานนั้นจะเพียงแค่น้อยนิด แต่อานิงส์ที่ได้รับ ย่อมยิ่งใหญ่สุดที่จะประมาณมิได้ ดั่งเช่นนางทาสีที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก 
       ในครั้งพุทธกาล มีนางทาสีคนหนึ่งมีฐานะยากจน ไม่ได้กินอาหารมาสองสามวันแล้ว เช้าวันหนึ่งได้เดินถือหม้อผ่านหน้าบ้านของท่านอานาถบิณฑิกเศรษฐี เห็นคนใช้ของท่านอานาถบิณฑิกเศรษฐี ยกเศษอาหารที่เหลือจากเมื่อวานมาเททิ้ง นางดีใจ จึงเข้าไปขอ คนใช้ติงว่าอย่าเอาไปกินเลย เดี๋ยวท้องเสียนะ นางทาสีกล่าวว่าไม่เป็นไรหรอก ฉันกินได้ คนใช้ก็เลยเทเศษอาหารที่เหลือใส่หม้อให้นางทาสีจนเต็ม
       นางทาสีดีใจที่วันนี้ได้ลาภลอย จะได้กินอาหารให้อิ่มหนำสำราญ สมกับที่อดอาหารมาสองสามวันแล้ว จึงเดินกลับบ้านอย่างมีความสุข ระหว่างทางที่เดินกลับบ้าน ก็ได้พบกับพระพุทธองค์กำงลังเสด็จสวนทางมา เพื่อที่จะไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านของท่านอานาถบิณฑิกเศรษฐี พอนางทาสีเห็นพระพุทธองค์ ก็เกิดปิติศรัทธาอย่างแรงกล้า ดีใจที่ได้พบพระพุทธองค์ คิดว่าวันนี้เราช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้พบพระพุทธองค์ จึงอยากที่จะใส่บาตรพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทราบวาระจิตของนางทาสี จึงเปิดฝาบาตร นางทาสีจึงใส่เศษอาหารที่ได้มาทั้งหมดลงในบาตรด้วยความปลื้มปีติเบิกบานใจ
สักครู่ก็เกิดนึกขึ้นมาได้ว่า เราทำไมถึงโง่จัง เพราะพระพุทธองค์กำลังเสด็จไปที่บ้านท่านอานาถบิณฑิกเศรษฐี ใครจะปล่อยให้พระพุทธองค์ฉันเศษอาหารที่เหลือเดนอย่างนี้ เขาคงเททิ้งหมด ท่านเศรษฐีคงเตรียมของใหม่ๆดีๆ มาถวาย นางทาสีนึกน้อยใจในบุญวาสนาของตัวเอง พระพุทธเจ้าทราบวาระจิตที่เลื่อมใสศรัทธาบริสุทธิ์อย่างแรงกล้าของนางทาสี ทรงแสดงกิริยาให้พระอานนท์ปูอาสนะตรงข้างทางนั้น แล้วทรงประทับฉันภัตตาหารของนางทาสีที่ถวายนั้นจนหมดสิ้น
     เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับถึงเชตวันมหาวิหารแล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์ว่า อานนท์เธอรู้ไหมว่าบุญที่นางทำในครั้งนี้ มากกว่าบุญของอนาถบิณฑิกเศรษฐีที่สร้างเชตวันมหาวิหารถวาย รวมทั้งสร้างโรงทาน 4 มุมเมืองด้วย เพราะเหตุว่าแม้วัตถุทานที่ท่านอานาถบิณฑิกเศรษฐี จะมีมูลค่ามากมายมหาศาลแต่ไม่เคยมาจากส่วนที่ท่านต้องตัดใจอดสละจาคะออกมา ท่านทำบุญทำทานเท่าไหร่ ก็ไม่กระทบกระเทือนถึงส่วนที่จำเป็นแก่ชีวิตของท่านเลย เจตนาที่ทำจึงมีน้ำหนักไม่รุนแรงเท่านางทาสี ซึ่งตั้งใจจะกินอาหารนั้นอยู่แล้ว ใจยินดีในอาหารนั้น เห็นอาหารนั้นเป็นของเลิศของวิเศษที่สุดเท่าที่เคยมี และตัวเองก็อดอาหารมาถึง 3 วันแล้ว ตั้งใจจะกินอาหารนั้นเองให้หมดด้วยความหิวโหย แต่พอเห็นพระพุทธเจ้า ก็ตัดใจ น้อมถวายอาหารนั้นทั้งหมด โดยไม่ตระหนี่หรือหวงแหน ให้แค่ครึ่งเดียว ค่อนเดียว ทั้งที่ตัวเองก็อดมาตัังสองสามวันแล้ว ถึงวันนี้ตัวเองจะอดอีกก็ไม่เป็นไร ไม่ระย่อท้อ เพราะความศรัทธาปลื้มปิติท่วมท้นที่ได้ทำบุญกับพระพุทธเจ้า เจตนาที่ทำ ผลทานผลบุญของนางทาสีจึงมากมายมหาศาล เหลือคณาดังนี้แล
        ฉะนั้นจะเห็นกันได้ว่า ผู้มีปัญญารู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักษินาทานจึงจะมีผลไพบูลย์

      เมื่อทุกข์วิ่งเข้ามาหาเต็มอัตรา จิตก็ระอาเกิดศรัทธาค้นหาสุข ทุกข์เกิดเพราะใจเราไปยึดติด(ยึดติดในขันธ์ห้า) ทุกข์ดับสนิทเพราะจิตมีสติปล่อยวาง(ไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า) หาสุขได้ในทุกข์ หาที่สุดของทุกข์ได้ด้วยวิปัสนา
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อานิสงส์ของความกตัญญู (สุวรรณสาม)


      ในอดีตชาติ พระโพธิสัตว์ได้เสวยชาติเป็นดาบส มีผิวพรรณงดงามราวกับทองคำบริสุทธิ์ ชื่อสุวรรณสาม ได้เลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอดทั้งสองข้าง อาศัยอยู่ในอาศมใกล้ฝั้งแม่น้ำมิคคสัมมตา ในกรุงพาราณสี มีบรรดาสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดแวดล้อมเป็นเพื่อนเล่น ด้วยเหตุที่ว่าสุวรรณสามเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่เคยทำอันตรายแก่ฝูงสัตว์ เวลาสุวรรณสามไปไหน บรรดาสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจะพากันติดตามสุวรรณสามไปทั่วทุกแห่งหน
     อยู่มาวันหนึ่งพระราชาแห่งเมืองพาราณสี พระนามว่า"กบิลยักขราช" เสด็จออกล่าสัตว์ ได้เสด็จมาถึงแม่น้ำ ได้สังเกตเห็นรอยเท้าสัตว์ในบริเวณนั้น จึงคอยซุ่มดักยิง ขณะนั้นสุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยอย่างมากมาย พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็ทรงแปลกพระทัยเป็นยิ่งนัก คิดว่าสุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึงเดินมากับฝูงสัตว์อย่างมากมาย ครั้นจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสามจะตกใจหนีไป ก็จะไม่ได้ตัว จึงยิงด้วยธนูให้ถูกตัวก่อนแล้วค่อยจับตัวไว้ซักถามในภายหลัง
     เมื่อสุวรรณสามลงไปตักน้ำแล้วกำลังจะเดินกลับ พระราชาจึงยิงด้วยธนูอาบยาพิษ ถูกสุวรรณสามที่ลำตัว สุวรรณสามล้มลงกับพื้น แต่ยังไม่ถึงตาย จึงเอ่ยขึ้นว่า "เนื้อของเรากินไม่ได้ หนังของเราเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ จะยิงเราทำไม คนที่ยิงเราเป็นใครยิงแล้วจะซ่อนตัวอยู่ทำไม"
       พระราชาได้ยินเช่นนั้นก็ยิ่งแปลกพระทัย ทรงคิดว่า"หนุ่มน้อยนี้เป็นใครกันหนอ ถูกเรายิงล้มลงแล้ว ยังไม่โกรธเคือง กลับใช้ถ้อยคำอันอ่อนหวาน แทนที่จะด่าว่าด้วยความโกรธแค้นเรา ไฉนเลยเราจะต้องแสดงตัวให้เขาเห็น"
     คิดดังนั้นแล้ว พระราชาจึงออกมาจากพุ่มไม้ที่ซ่อน แล้วไปประทับอยู่ข้างๆสุวรรณสาม พลางตรัสว่า"เราชื่อกบิลยักขราช เป็นพระราชาแห่งแมืองพาราณสี เจ้าเป็นผู้ใคร มาทำอะไรอยู่ในป่านี้"
     สุวรรณสามตอบไปว่า "ข้าพเจ้าเป็นบุตรดาบส ชื่อว่าสุวรรณสาม พระองค์ยิงข้าพเจ้าด้วยธนูพิษได้รับความเจ็บปวดสาหัส พระองค์ประสงค์สิ่งใดจึงยิงข้าพเจ้า"
     พระราชาไม่กล้าตอบความจริง จึงแสร้งตรัสว่า"เราตั้งใจจะยิงเนื้อเป็นอาหาร แต่พอเจ้ามา เนื้อก็ เตลิดหนีไปหมด เราโกรธจึงยิงเจ้า "
       สุวรรณสามแย้งว่า"เหตุใดพระองค์จึงตรัสเช่นนั้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในป่าแห่งนี้ไม่เคยกลัว ไม่เคยเตลิด ไม่เคยหนีข้าพเจ้าเลย สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า"
    พระราชาทรงละอายพระทัยที่ตรัสความเท็จแก่สุวรรณสาม ผู้ถูกยิงโดยปราศจากความผิด จึงตรัสตามความจริงว่า "เป็นความจริงตามที่เจ้าว่า สัตว์ทั้งหลายมิได้กลัวภัยจากเจ้าเลย เรายิงเจ้าก็เพราะความโง่เขลาของเราเอง แล้วจึงตรัสถามต่อไปว่า เจ้าอยู่กับใครในป่านี้ แล้วออกมาตักน้ำไปให้ใคร"
    สุวรรณสามจึงตอบไปว่า "ข้าพเจ้าอยู่กับพ่อแม่ซึ่งตาบอดทั้งสองคน ข้าพเจ้าทำหน้าที่ปรนนิบัติเลี้ยงดูพ่อแม่ หาน้ำและอาหารสำหรับท่านทั้งสอง เมื่อข้าพเจ้ามาถูกยิงตายแล้ว พ่อแม่ของข้าพเจ้าจะอยู่ต่อไปได้ยังไง ใครจะคอยดูแลปรนนิบัติท่าน
     เมื่อพระราชาทรงได้ยินดังนั้น ก็เสียพระทัยยิ่งนัก คิดว่าได้ทำร้ายผู้ที่มีความกตัญญูอย่างสูงสุด ผู้ไม่เคยคิดทำอันตรายใครเลย จึงตรัสว่า"ท่านอย่ากังวลไปเลย เราจะรับดูแลปรนนิบัติเลี้ยงดูพ่อแม่ของท่านให้เหมือนกับที่ท่านได้เคยทำมา เจ้าจงบอกเรามาเถิดว่าพ่อแม่ของอยู่ที่ไหน"
     สุวรรณสามเมื่อได้ยินพระราชาตรัสให้สัญญาเช่นงนั้น ก็ดีใจ กราบทูลว่า"พ่อแม่ของข้าพเจ้าอยู่ ณ.ที่ศาลาไม่ไกลจากที่นี่มากนัก ขอเชิญเสด็จไปเถิด"
       พระราชาตรัสถามว่า แล้วเจ้ามีอะไรจะสั่งความไปถึงพ่อแม่ของเจ้าบ้างหรือไม่ สุวรรณสามจึงขอให้พระราชาช่วยบอกกับพ่อแม่ว่า ตนฝากกราบไหว้ลาพ่อแม่มากับพระราชา เมื่อสุวรรณสามประนมมือกราบลงแล้วก็สลบไป
        พระราชาทรงเศร้า
โศรกเสียพระทัยยิ่งนัก รำลึกถึงกรรมอันหนักที่ได้ก่อขึ้นในครั้งนี้ แล้วก็ทรงระลึกได้ว่า มีทางเดียวเท่านั้นที่จะช่วยผ่อนกรรมหนักให้เป็นเบา คือจะต้องปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือจะต้องปรนนิบัติเลี้ยงดูพ่อแม่ของสุวรรณสาม เหมือนที่สุวรรณสามได้เคยกระทำมา
พระราชาจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้นออกเดินทางไปย้งศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้ ครั้นพอไปถึง ดาบสผู้เป็นบิดาและมารดาผู้ตาบอดทั้งสองได้ยินเสียงฝีเท้าของพระราชา ก็ร้องถามขึ้นว่า "นั่นใครกัน ไม่ใช่สุวรรณสามลูกของเราแน่ พระราชาจึงตรัสบอกเรื่องราวทั้งหมดให้ทราบ ดาบสทั้งสองเมื่อได้ยินดังนั้น ก็เสียใจยิ่งนัก ดาบสทั้งสองอ้อนวอนพระราชาให้พาไปที่สุวรรณสามนอนตายอยู่ พระราชาก็ทรงพาไป
     ครั้นพอไปถึง ดาบสผู้เป็นมารดาก็ช้อนเท้าลูกขึ้นวางบนตัก ดาบสผู้เป็นบิดาก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามประคองไว้บนตัก ต่างพากันร้องไห้รำพันถึงสุวรรณสามด้วยความเศร้า โศกเสียใจ ดาบสผู้เป็นมารดาจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า"สุวรรณสามลูกเราเป็นผู้ที่ประพฤติดีตลอดมา มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่เป็นยิ่งนัก เรารักสุวรรณสามยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง ด้วยสัจจวาจาของเรานี้ ขอให้พิษธนูจงคลายไปเถิด ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามได้เลี้ยงดู พ่อแม่ตลอดมา ขออานุภาพแห่งบุญกุศล จงดล บันดาลให้สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาเถิด"
    เมื่อนางตั้งสัตยาธิษฐานจบ สุวรรณสามก็พลิกกายไป ข้างหนึ่งแต่ยังนอนอยู่ ดาบสผู้เป็นบิดาจึงตั้งสัตยาธิษฐานเช่นเดียวกัน สุวรรณสามก็พลิกกายกลับไปอีกข้างหนึ่ง ฝ่ายนางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ.บริเวณเขาคันธมาทน์ ผู้ที่เคยเป็นมารดาของสุวรรณสามเมื่ออัตภาพที่7 ก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "เราทำหน้าที่รักษาเขาคันธมาทน์มาเป็นเวลานาน เรารักสุวรรณสามผู้มีเมตตาจิต และมีความกตัญญูยิ่งกว่าใคร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้พิษจงจางหายไปเถิด"
      ทันใดนั้นสุวรรณสามก็พลิกกายฟื้นตื่นขึ้น หายจากพิษธนูโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นดวงตาของพ่อและแม่ของสุวรรณสามก็กลับแลเห็นเหมือนเดิม
    พระราชาทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ก็รู้สึกประหลาดใจเป็นยิ่งนัก จึงตรัสถามสุวรรณสามว่า เจ้าฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร
  สุวรรณสามจึงตอบพระราชาว่า"บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมช่วยคุ้มครองบุคคลนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญ แม้เมื่อตายไปแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ เสวยผลบุญแห่งความกตัญญูกตเวทีของตน"
     เมื่อพระราชาได้ยินเช่นนั้น ก็ชื่นชมโสมนัส ตรัสกับสุวรรณสามว่า"ท่านได้ช่วยทำให้จิตใจและดวงตาของข้าพเจ้าให้สว่างไสว ข้าพเจ้ามองเห็นธรรม ต่อแต่นี้ไป ข้าพเจ้าจะรักษาศีล จะบำเพ็ญกุศลกิจ จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อีกแล้ว" หลังจากนั้นพระราชาก็ทรงขอขมาโทษที่ได้กระทำให้สุวรรณสามเดือดร้อน แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับกรุงพาราณสี ทรงตั้งอยู่ในธรรม ตลอดพระชนม์ชีพ แล้วเสด็จสู่สรวงสวรรค์
     ส่วนบิดามารดาของสุวรรณสาม ยังณานอภิญญาให้เกิดแล้ว เข้าถึงพรหมโลกนั้นแล ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาอย่างดีเรื่อยมา เมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปบังเกิดอยู่ในสวรรค์ เมื่อจุติจากสวรรค์แล้วก็ได้บำเพ็ญบุญบารมีเรื่อยมา จนมาถึงในชาติสุดท้าย ก็ได้มาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าของเรานั้นแล
 


    แสงอาทิตย์ส่องแสงให้ความอบอุ่นในเวลากลางวัน แสงจันทร์ส่องสว่างนำทางในเวลากลางคืน ส่วนแสงแห่งความรักความเมตตาอันบริสุทธิ์ที่มีต่อบุตร ย่อมส่องสว่างกลางใจบุตรทั้งกลางวันและกลางคืน
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อชครเปรต(ผลกรรมที่เผาทำลายพระคันธกุฎีหรือศาลา


       ในกาลสมัยของพระกัสสปพระพุทธเจ้า มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่าสุมงคล รวยมาก มีคฤหาสน์ใหญ่โตมโหฬาร แม้แต่อิฐที่ใช้ปูพื้นยังเป็นทองคำ วันหนึ่งท่านเศรษฐีได้ไปเข้าเฝ้าพระศาสดาแต่เช้าตรู่ เห็นโจรคนหนึ่งนอนเอาผ้ากาสาวะคลุมร่างตลอดถึงศีรษะ ทั้งมีเท้าเปื้อนโคลนอยู่ในศาลาหลังหนึ่ง จึงกล่าวว่า "เจ้าคนนี้ มีเท้าเปื้อนโคลน คงจักเป็นมนุษย์ที่เที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนแล้วเลยมานอนอยู่ที่นี่
       โจรเปิดหน้าเห็นเศรษฐีแล้วโกรธ คิดในใจว่า"แล้วจะได้รู้ว่าเราจะทำยังไงแก่มัน" อยู่มาไม่นาน ด้วยความอาฆาตพยาบาท โจรนั้นได้เผานาของเศรษฐี ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคทั้งหลายในคอกอีก ๗ ครั้ง เผาเรือนอีก ๗ ครั้ง แต่ก็ยังไม่หายแค้น หลังจากนั้นก็ไปตีสนิทกับคนใช้ของเศรษฐี แล้วหรอกถามว่า "เศรษฐีรักอะไรมากที่สุด คนใช้ตอบว่าสิ่งที่เศรษฐีรักมากที่สุดก็คือพระคันธกุฎีที่สร้างถวายพระพุทธเจ้า เมื่อโจรทราบเช่นนั้น จึงหาโอกาสเผาและทำลายพระคันธกุฎี
       เมื่อท่านเศรษฐีทราบว่าพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้ จึงเดินทางมาดู เมื่อเห็นพระคันธกุฎีถูกไฟไหม้ ก็มิได้เศร้าโศรกเสียใจแม้แต่น้อยเลย อีกทั้งยังปรบมือแสดงความดีใจ ชาวบ้านที่อยู่ในที่นั้นก็เกิดความประหลาดใจ ถามท่านเศรษฐีว่า ทำไมท่านจึงไม่เสียใจ แล้วเหตุไฉนท่านจึงปรบมือ เศรษฐีตอบว่า เราคิดว่าพระคันธกุฎีนี้ถูกไฟไหม้ไปแล้ว ก็จะเป็นโอกาสอันดีของเราที่จะได้สร้างหลังใหม่ให้สวยสดงดงามและสะดวกสบายยิ่งกว่าหลังเก่าขึ้นมาอีก เราจะได้มีโอกาสสร้างบุญกุศลใหญ่อีกครั้ง แล้วทำไมเราจะไม่ดีใจเล่า การสร้างพระคันธกุฎีถวายพระพุทธเจ้า ย่อมมีผลเป็นความสุขอย่างหาประมาณมิได้แก่เรา ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่เสียดาย แต่กลับดีใจ
        หลังจากนั้นท่านเศรษฐีจึงได้สร้างพระคันธกุฎีหลังใหม่ขึ้น เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ก็ถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขถึง ๗ วัน ฝ่ายโจรยังไม่หายแค้นท่านเศรษฐี จึงคิดที่จะฆ่าเศรษฐี พอวันที่ 7 ที่ท่านเศรษฐีถวายทาน โจรก็หาโอกาสเข้าไปใกล้ๆท่านเศรษฐี และได้แอบซ่อนมีดสั้นไว้ในเสื้อ เพื่อหวังจะแทงท่านเศรษฐีให้ตาย ฝ่ายท่านเศรษฐี เมื่อถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษผู้หนึ่งเผานาของข้าพระองค์ ๗ ครั้ง ตัดเท้าโคในคอก ๗ ครั้ง เผาเรือน ๗ ครั้ง บัดนี้ แม้แต่พระคันธกุฎี ก็คงเป็นฝีมือของเขานั่นแหละที่เป็นผู้เผาพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ขอให้ส่วนบุญในทานที่ข้าพระพุทธเจ้าได้สร้างพระคันธกุฎีถวายแก่พระองค์นี้ แก่ชายผู้นั้นด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า
      เมื่อโจรได้ยินท่านเศรษฐีพูดเช่นนั้น ก็รู้สึกตกใจ คิดว่าแทนที่ท่านเศรษฐีจะโกรธเรา กลับยังแบ่งส่วนบุญกุศล
ที่ได้สร้างพระคันธกุฎีถวายพระพุทธเจ้าให้กับเราอีก จึงสำนึกผิด ก้มลงกราบที่เท้าของท่านเศรษฐี แล้วรับสารภาพว่าตนเป็นคนทำทุกอย่างเอง แล้วขอร้องให้ท่านเศรษฐียกโทษให้
       ท่านเศรษฐีจึงได้เอ่ยถามโจรว่า เราได้เคยทำอะไรให้เจ้าไม่พอใจหรือ เจ้าจึงได้เครียดแค้นโกรธเรา และคิดทำร้ายเราถึงเพียงนี้ โจรจึงเล่าความจริงให้ทราบ ท่านเศรษฐีจึงคิดถึงคำพูดที่ท่านได้พูดไว้ในวันนั้น ก็จำได้ว่าพูดจริงๆ จึงได้กล่าวกับโจรว่า เจ้าจงยกโทษให้แก่เราด้วยเถิดที่เราได้พูดล่วงเกินเจ้า ส่วนเราก็ยกโทษให้กับเจ้าแล้วเช่นกัน เราหมดเวรแก่กันเพียงแค่นี้ เราให้อภัยแก่เจ้าแล้ว เจ้าจงไปเถอะ
       ฝ่ายโจรเมื่อสำนึกผิดแล้ว จึงอ้อนวอนท่านเศรษฐี ขอพาบุตรและภรรยามาเป็นทาสรับใช้รับท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีปฎิเสธ พร้อมกับกล่าวกับโจรว่า นี่แน่ะพ่อ ขนาดเราพูดเพียงแค่นี้ เจ้ายังอาฆาตพยาบาทเราราวกับว่าเราด่าว่าดูหมิ่นและทำร้ายเจ้าอย่างสาหัส ถ้าเจ้ามาอยู่ในเรือนของเราแล้วเราคงไม่กล้าอ้าปากพูดอะไรเลย เพราะไม่รู้ว่าเจ้าจะโกรธขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ ตอนนี้เราไม่มีธุระอะไรจะที่จะให้เจ้ารับใช้หรอก เจ้าจงไปเถิด
     และด้วยผลกรรมที่โจรได้ทำไว้ในครั้งนั้นเอง เมื่อสิ้นอายุลง ก็ได้ส่งผลให้ไปเกิดอยู่ในนรกอเวจี หมกไหม้สิ้นกาลนาน เมื่อพ้นจากนรกอเวจีขึ้นมาได้ และด้วยเศษของกรรมที่เหลือ จึงได้มาเกิดเป็นเปรตงูเหลือมผู้มีไฟหมกไหม้อยู่ทั่วตัว อยู่ที่เชิงเขาคิชกูฎนั่นแล
       พระบรมศาสดาครั้นตรัสบุรพกรรมของเปรตนั้นอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่าคนพาลทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมไม่รู้ แต่ภายหลังเร่าร้อนอยู่ เพราะกรรมอันตนทำแล้ว ย่อมเป็นเช่นกับไฟไหม้ป่า ด้วยตนของตนเอง

    ชีวิตย่อมก้าวเดินไปข้างหน้า เหมือนนาฬิกาที่ยังไม่หยุดหมุน มีบุญและบาปเป็นต้นทุน หมุนเวียนประสบพบเจอกันไป มีสุขสมหวัง มีผิดหวัง มีหัวเราะ มีร้องไห้ มีดีใจ มีเสียใจ จนกว่าจะหมดกรรม ช่วงมีชีวิตอยู่อย่าลืมตัว อย่าถลำ เพราะหากพลาดทำบาปกรรม ต้องรับผลกรรมที่ทำไว้เอง
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

โฆสกเทพบุตร(อานิสงส์ของการเจริญพุทธานุสติ)


        สัตว์โลกทุกชนิดเกิดมาแล้ต้องตาย ตายแล้วก็เกิดใหม่ หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกรรม ไม่มีสัตว์ชนิดไหนเลยที่เกิดมาแล้วไม่ตาย แต่ตายแล้วจะไปเกิดอยู่ในภพภูมิไหนเท่านั้นเอง บ้างก็ไปเกิดอยู่ในสุขติภูมิ(มนุษย์ เทวดา พรหม) บ้างก็ไปเกิดอยู่ในทุกข์ภูมิ(นรก เปรต อสูรกาย สัตว์เดรัชฉาน) สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ไปเกิดอยู่ในภพภูมิไหน  ก็ขึ้นอยู่ที่กรรมที่เราทำไว้นั่นเอง กรรมที่เราทำไว้นัันไม่ได้สูญหายไปไหน มันจะถูกเก็บไว้ในจิต กรรมไหนที่มีกำลังมากที่สุดก็จะมาปรากฎในจิตดวงสุดท้ายเมื่อตอนใกล้ตาย  ถ้าจิตดวงสุดท้ายเป็นอกุศล ก็จะทำให้ไปเกิดในทุกข์ติภูมิ แต่ถ้าจิตดวงสุดท้ายเป็นกุศลก็จะนำให้ไปเกิดอยู่ในสุขติภูมิ อย่างเช่นเรื่องโฆสกเทพบุตรที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก 
          ในอดีตแคว้นวังสะเกิดภัยพิบัติขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง โกตุหลิกจึงพาภรรยาอพยพเดินทางไปสู่กรุงโกสัมพี ระหว่างทางอาหารที่นำติดตัวมาด้วยหมด ทำให้ทั้งสองอดอยากและหิวโหยอย่างมาก จนกระทั่งเดินทางมาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง จึงเข้าไปขออาหารจากนายโคบาล นายโคบาลเป็นคนใจบุญ หุงข้าวปายาสไว้เพื่อถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกวัน จึงแบ่งข้าวปายาสให้สองสามีภรรยากิน ภรรยเห็นว่าสามีหิวมาก นางได้จึงแบ่งข้าวปายาสส่วนของตนให้สามีเพิ่ม พร้อมกับกล่าวกับสามีว่า ท่านอดข้าวมานานหลายวัน ขอให้ท่านบริโภคให้เพียงพอก่อนเถิด โกตุหลิกจึงรีบกินข้าวปายาสจำนวนมากสมกับที่อดอยากมานานหลายวัน ในระหว่างที่กินข้าวปายาสอยู่นั้น สายตาก็เหลือบไปเห็นก้อนข้าวปายาสที่วางไว้ที่พื้น ที่นายโคบาลปั้นวางไว้ให้สุนัขกิน ก็เกิดความอิจฉาสุนัข คิดในใจว่าแหมสุนัขตัวนี้ช่างมีบุญเหลือเกิน ได้กินอาหารดีๆแบบนี้ทุกวัน ส่วนตัวเรานานๆทีจึงจะได้มีโอกาสกินอย่างนี้สักที
       
และด้วยเหตุที่โกตุหลิกได้บริโภคอาหารมากเกินไป พอตกกลางคืนอาหารไม่ย่อย โกตุหลิกจึงทำกาละคือตาย และด้วยจิตดวงสุดท้ายที่ผูกพันนึกถึงสุนัขตัวนั้น ทำให้ไปปฎิสนธิจิตคือเกิดอยู่ในท้องของนางสุนัขตัวนั้น หลังจากเกิดเป็นสุนัขแล้ว สุนัขนั้นก็เป็นสุนัขที่แสนรู้ อีกทั้งยังได้รับก้อนข้าวจากพระปัจเจกพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ สุนัขนั้นจึงมีความผูกพันและเคารพรักในพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก บ่อยครั้งที่นายโคบาลไปสู่สำนักของพระปัจเจกพุทธ เจ้าสุนัขนั้นก็จะตามไปด้วย ได้เห็นนายโคบาลเอาไม้ตีพุ่มไม้ข้างทางเพื่อขับไล่สัตว์ร้ายให้หนีไป สุนัขนั้นก็จดจำเอาไว้
   
วันหนึ่งนายโคบาลกราบทูลพระปัจเจกพุทธเจ้าว่าหากวันใดที่ข้าพระพุทธเจ้าไม่สามารถที่จะเดินทางมานิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ด้วยตนเอง ก็จะส่งให้เจ้าสุนัขตัวนี้มานิมนต์แทนพระพุทธเจ้าข้า พระปัจเจกพุทธเจ้าพึงรับทราบ หลังจากวันนั้น พอวันใดที่นายโคบาลไม่ว่างก็จะใช้ให้เจ้าสุนัขนั้นไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้ามารับภัตตาหารที่เรือนแทน เจ้าสุนัขนั้นก็จะเดินไปที่หน้าที่พำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วเห่า ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ แล้วนอนหมอบรออยู่ เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าออกมาจากที่พำนักแล้ว เจ้าสุนัขก็จะเดินนำหน้าไป ระหว่างทางสุนัขก็จะเที่ยวเห่าใส่สุมทุมพุ่มไม้ที่รก เพื่อเป็นการขับไล่สัตว์ร้ายตามอย่างที่จำมาจากนายโคบา
        วั
นหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าต้องย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่อื่น จึงเดินทางมาบอกลากับนายโคบาล สุนัขนั้นได้ยิน เกิดความอาลัยในพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอย่างมาก พอพระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะขึ้นไปบนอากาศเพื่อลาจาก สุนัขนั้นก็ได้ยืนเห่าหอนเพื่อส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า พอพระปัจเจกพุทธเจ้าเหาะลับสายตาไป สุนัขตัวนั้นก็ใจขาดตายลงในที่สุด และด้วยจึตดวงสุดท้ายที่เป็นกุศล มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ทำให้ไปปฎิสนธิจิตคือเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนามว่า“โฆสกเทพบุตร มีนางเทพอัปสร ๑,๐๐๐ นางเป็นบริวาร เป็นเทพบุตรผู้มีเสียงอันก้องกังวาล เพียงแค่กระซิบเบาๆ เสียงก็ดังไปไกลถึง ๑๖ โยชน์ เพราะอานิสงส์ของการที่ได้เห่าส่งพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยใจที่เลื่อมใสนั่นเอง

       นกมีความสุขเพราะได้โบยบินบนท้องฟ้า ปลามีความสุขในสายน้ำว่ายเวียนวน คนมีความสุขเพราะได้เสวยผลของบุญ บุญเป็นอาภรณ์ประดับจิต เป็นมิตรประดับใจ เป็นบันไดสู่สวรรค์ ก้าวสู่ชั้นพระนิพพาน 
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย
อานิสงส์ของการสร้างธรรมมาสน์ถวายวัด 


         ธรรมาสน์คือที่นั่งสำหรับพระใช้แสดงธรรม ซึ่งเป็นที่คุ้นตาคนไทยมาอย่างช้านาน ด้วยว่ามักมีอยู่ในทุกวัด ซึ่งแต่ละวัดก็มีความงดงามที่แตกต่างกันออกไป คนไทยเชื่อกันว่าการทำบุญด้วยการสร้างธรรมาสน์ถวายวัด ย่อมได้รับอานิสงส์ผลบุญเป็นอย่างมาก  ย่อมได้รับอานิสงส์ทางปัญญา ทำให้เป็นคนฉลาดปราดเปรื่อง มีปัญญาดี  ได้พบกับกัลยาณมิตร และบริบูรณ์ไปด้วยโภคทรัพย์ ดังเมณฑกเศรษฐีที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกดังต่อไปนี้
        ในครั้งพุทธกาลพระพุทธองค์ได้เสด็จประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในครั้งนั้น มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อว่าเมณฑก ที่ได้ชื่อนี้เพราะว่า เศรษฐีนั้นมีรูปแพะทองคำอันมีฤทธานุภาพมาก ภิกษุสงฆ์จึงได้โจทนากันอยู่ในคันธกุฏี ในครั้งนั้นพระบรมศาสดาได้ตรัสพระธรมมเทศนาถึงอดีตชาติของเมณฑกเศรษฐีที่ได้เคยสร้างบารมีมา ซึ่งมีใจความว่าดังนี้
        ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลสมัยของพระวิปัสสีพระพุทธเจ้า ในครั้งนั้นมีเศรษฐีคนหนึ่ง ชื่ออินทะเศรษฐี ได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้สละทรัพย์และน้ำพักน้ำแรงสร้างธรรมาสน์ถวายเป็นทานแก่พระวิปัสสีพระพุทธเจ้า เพื่อนั่งแสดงพระธรรมเทศนา และได้สร้างรูปแพะทองคำอีก5ตัวรองเป็นบันไดขึ้นเพื่อเสด็จไปเทศน์ได้โดยสะดวก เมื่่อเสร็จแล้วก็ได้ถวายแก่พระวิปัสสีพระพุทธเจ้า พร้อมตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จด้วยฤทธิ์แพะทองคำนี้เถิด
       ครั้นต่อมาเมื่ออินทะเศรษฐีได้สิ้นอายุขัยลง ด้วยผลบุญกุศลที่มีในครั้งนั้น ก็ได้ส่งผลให้ท่านได้ไปบังเกิดอยู่บนสวรรค์ มีวิมานทองสูง 10โยชน์ มีนางฟ้าอัปสรพันหนึ่งเป็นบริวาร วิมานทองนั้นประกอบด้วยแก้ว 7 ประการอันรุ่งเรืองลือชาปรากฏในเทวโลกนั้น ชื่อว่าอินทกเทวบุตร ครั้นจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ได้มาบังเกิดในเมืองพาราณสี ได้เป็นเศรษฐี มีข้าวของเป็นอันมากที่นับประมาณมิได้ ครั้นสิ้นชีพอายุขัย ก็ได้ไปบังเกิดบนเทวโลกอันเป็นเทวสถานอันอุดมโอฬารไพศาลของพวกเทพนิกรอีกครั้ง จนมาถึงในศาสนาของพระสมณโคดมพระพุทธเจ้าของเรา จึงได้จุติจากเทวโลกลงมาบังเกิดเป็นเมณฑกเศรษฐี ครั้นเมณฑกกุมารเจริญวัยขึ้นได 16 ปีนั้น แพะทองคำจึงทำฤทธิ์ให้เงินทองข้างของในท้องแพะนั้นไหลออกมาเป็นอันมาก เมณฑกกุมารได้เสวยซึ่งสมบัติข้าวของเหล่านั้น จึงมีนามว่า เมณฑกเศรษฐี เพราะด้วยผลบุญกุศลที่ได้เคยสร้างธรรมธรรมาสน์ เพื่อนั่งแสดงพระธรรมเทศนา และได้สร้างรูปแพะทองคำ ถวายเป็นทานแก่พระวิปัสสีพระพุทธเจ้าในอดีตชาตินั้นแล


       ชีวิตไม่แน่ ย่อมผันแปรเปลี่ยนไปตามกรรม มีบุญก็สุขเหลือล้ำ มีบาปกรรมก็ทุกข์ระกำอยู่ร่ำไป มีเกิดขึ้นมา ก็มีลาลับหาย ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่ว่าจะอยู่ในโลกนี้อย่างไรให้ได้กำไร เมื่อลาจากโลกนี้ไปไม่ให้ขาดทุน
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อานิสงส์ของการทำบุญกับพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรจน์สมาบัติ(ปุณณะเศรษฐี)


        ในครั้งพุทธกาล มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อปุณณะ เป็นคนยากจน อาศัยอยู่กับท่านสุมนเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ อยู่มาวันหนึ่งพระสารีบุตรเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ ได้พิจารณาดูว่าวันนี้จะไปสงเคราะห์ใครดี เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่า นายปุณณะเป็นบุคคลที่เหมาะสม ท่านจึงถือบาตรจีวรเดินไปยังท้องทุ่งนา ที่นายปุณณะกำลังไถอยู่
        นายปุณณะเมื่อเห็นพระสารีบุตรเดินมาเกิดเลื่อมใสศรัทธา จึงวางคันไถพร้อมก้มลงกราบ แล้วถวายไม้ชำระฟันพร้อมน้ำบ้วนปากแก่พระสารีบุตร พระสารีบุตรให้พรแล้วเดินจากไป ในระหว่างทางได้พบกับภรรยาของนายปุณณะที่กำลังนำอาหารมาส่งให้สามี ภรรยาของนายปุณณะเมื่อเห็นพระสารีบุตร เกิดเลื่อมใสศรัทธา จึงนำเอาอาหารที่จะนำไปส่งให้สามีทั้งหมด ใส่ลงไปในบาตรของพระสารีบุตร พระสารีบุตรให้พรแล้วเดินจากไป
        ส่วนภรรยานายปุณณะ เมื่อนำอาหารใส่บาตร
พระสารีบุตรหมดแล้ว จึงรีบกลับไปปรุงอาหารใหม่ที่บ้าน เมื่อปรุงเสร็จแล้ว ก็รีบเดินกลับมาส่งให้สามีที่ท้องทุ่งนา เมื่อมาถึง กลัวสามีจะโกรธที่รอนาน จึงได้เอ่ยกับสามีว่า นายจ๋า ฉันนำอาหารมาให้นายตั้งแต่เช้าตรู่แล้ว แต่พอดีในระหว่างทาง ได้พบกับพระสารีบุตร จึงได้นำอาหารทั้งหมด ถวายแด่ท่านพระสารีบุตร แล้วจึงรีบกลับไปหุงหาอาหารใหม่มาให้นาย นายโกรธฉันไหม
        นายปุณณะเมื่อได้ยินภรรยาพูดเช่นนั้น เกิดปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงเอ่ยกับภรรยาว่า แม่มหาจำเริญ ข้าจะโกรธเจ้าได้ยังไงกัน เพราะเจ้าทำดีแล้ว ตอนเช้าตรู่ ฉันก็ได้ถวายไม้ชำระฟันและน้ำบ้วนปากแก่พระเถระด้วยเช่นกัน เราทั้งสองถือว่าได้ร่วมทำบุญกุศลที่ประเสริฐดีแล้ว เราต้องขออนุโมทนาบุญกับเจ้าด้วย
       และด้วยจิตที่เป็นมหากุศล อีกทั้งยังได้ทำบุญกับพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรจน์สมาบัติใหม่ๆเป็นคนแรก บุญจึงส่งผลในปัจจุบันทันด่วน ทันใดนั้นเอง พื้นนาที่นายปุณณะไถอยู่ ก็กลายเป็นทองคำสุกปลั่งเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่งนา นายปุณณะและภรรยาเห็นเช่นนั้นตกใจ ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ จึงพิจารณาดูให้แน่ชัด เมื่อรู้ว่าเป็นทองจริง จึงเข้าไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ เมื่อพระราชาทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงรับสั่งให้เอาเกวียนไปบรรทุกทองคำทั้งหมดมากองไว้ที่พระลานหลวง แล้วตรัสถามว่า ในพระนครนี้มีใครมีทองมากเท่านี้บ้างหรือไม่ เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า พระราชาจึงได้คืนทองทั้งหมดให้แก่นายปุณณะกลับคืนไป พร้อมทั้งประทานตำแหน่งเศรษฐีให้แก่นายปุณณะ มีนามใหม่ว่า ธนเศรษฐี
        เมื่่อนายปุณณะได้เป็นเศรษฐีแล้ว ก็
ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท ตั้งตนอยู่ในศีลธรรม ได้อุปัฏฐากและและได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าอย่างต่อเนื่อง  ท้ายสุดนายปุณณะพร้อมลูกสาวและภรรยา ก็ได้บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบันทั้งสามคนนั่นแล

เชื่อในดี ทำแต่ดี ระลึกดี ตั้งในดี เข้าใจดี เท่านี้พอ
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อานิสงส์ของการสร้างทางหรือสร้างสะพาน



         การทำบุญด้วยการสร้างทางหรือสร้างสะพานเพื่อให้สาธารณะชนทั้งหลายใช้ข้ามแม่น้ำลำคลอง เดินทางไปมาอย่างสะดวกสบายนั้น ถือว่าเป้นการช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรคของสาธารณะชนทั้งหลาย ย่อมได้รับอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่ ในอนาคตกาลจะมีผู้ช่วยเหลือ คอยอุปถ้มภ์ค้ำชู จะมีฤทธ์มาก จะทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไร้อุปสรรค ดังเช่นพระกปิลัตเถระที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
          ในครั้งศาสนาของพระกุกกุสันโธพระพุทธเจ้า ในครั้งนั้นพระกปิลัตเถระได้เกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจ มีอาชีพรับจ้างหาเลี้ยงต้วเองไปวันๆ อยู่มาวันหนึ่งได้เห็นทางโคจรบิณฑบาตของพระภิกษุสงฆ์ มีความเปียกชื้นแฉะ จึงได้นำทรัพย์ที่ตนรวบรวมไว้เพียงเล็กน้อยมาสร้างทางถวายให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ครั้นอยู่ต่อมาไม่นานเมื่อท่านใกล้ถึงแก่ความตาย ก็เกิดอัศจรรย์นิมิต เห็นภาพมหามงคล คือเห็นสะพานเงิน สะพานทอง ทอดลงมาจากเทวโลก เพื่อจะรับบุรุษเข็ญใจนั้นให้ขึ้นไปสู่สวรรค์ บุรุษเข็ญใจนั้นจึงพูดว่าเดี๋ยวจะขึ้นไป คำที่กล่าวนั้นปรากฎแก่คนทั้งหลาย อยู่มาครู่หนึ่งบุรุษเข็ญใจนั้นก็ถึงแก่อนิจกรรมทำลายขันธ์ ขณะนั้นเสียงดุริยางค์ดนตรีก็ดังสนั่นหวั่นไหวก้องเวหา ประชาชนต่างก็ได้ยินเสียงทิพย์ดนตรี อันเทพนิมิตให้เกิดมีทุกถ้วนหน้า ส่วนบุรุษเข็ญใจนั้นครั้นทำลายขันธ์แล้วก็ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เสวยทิพย์สมบัติมโหฬาร ประกอบด้วยแก้ว 7 ประการ จนกระทั่งมาถึงศาสนาของพระสมณโคดมพระพุทธเจ้าของเรา เทพบุตรองค์นั้นจึงได้จุติจากวิมานลงมาเกิดเป็นมนุษย์ มีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงได้ออกบวช ท่านบวชได้ไม่นานเท่าใดนัก ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ประกอบด้วยวิชชา และอภิญญา มีฤทธ์ สามารถอธิษฐานจิตให้น้ำในมหาสมุทร แข็งกระด้าง สามารถเดินเหยีบไปมาได้ราวกับพื้นดิน นี่ก็ด้วยอานิสงส์ของการสร้างสะพานในครั้งศาสนาของพระกุกกุสันโธพระพุทธเจ้านั้นนั่นเอง
           ฉะนั้นจะเห็นกันได้ว่า ท่านใดเป็นผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลเวลาอันควร เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักขินาทานจึงมีผลไพบูลย์ดังนี้แล

      ถึงแม้ว่าชีวิตนี้จะน้อยนิด แต่ก็ไม่น้อยนัก ถ้าเกิดมาแล้วได้สร้างคุณงามความดี ชีวิตที่สร้างคุณงามความดี เป็นชีวิตที่งดงาม เป็นชีวิตที่มีค่ามีราคา เป็นชีวิตที่มีอริยทรัพย์เป็นเครื่องประดับติดตามตัวไปในภพหน้า เป็นชีวิตที่ไม่สูญเปล่าและไม่ต้องกลัวปรโลก
ปรัชญาชีวิตจาก....สุธี ศรีพระรัตนตรัย