ศาลาพระแก้วมรกตและพระแก้วหยกขาวจักรกกรด

วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

ศาลาพระแก้วมรกตและพระแก้วหยกขาวจักรกรด(ธรรมทานจาก สุธี ศรีพระรัตนตรัย 6)

เหตุทีทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะบรรลุธรรมเป็นคนแรก


      อธิฐานบารมี เป็น1ใน10 ของบารมีทั้งหมด ผู้ที่จะทำงานทุกสิ่งให้ประสบความสำเร็จลงได้ เหนือสิ่งอื่นใดเลย จะต้องมีจิตใจที่ตั้งมั่นหรือใฝ่ฝันที่จะเป็นอะไรเสียก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยลงมือทำงานนั้น โดยใช้ความเพียรพยายามและอดทนทำไปอย่างไม่ย่อท้อ โดยใช้สติปัญญาไตร่ตรองงานที่ทำอย่างรอบครอบ สิ่งที่ใฝ่ฝันไว้ก็จะสามารถสำเร็จลงได้ ดั่งสมความปรารถนา ดังเช่นพระอัญญาโกณฑัญญะที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏก 
          ในครั้งศาสนาของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ พระอัญญาโกณฑัญญะได้เกิดเป็นบุตรคหบดีมหาศาลชาวหงสวดี วันหนึ่งได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู (แปลว่าผู้รู้ราตรีนาน หมายถึงได้บวชก่อนใคร ได้รู้ได้ฟังมาก) แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านได้ถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน 7 วัน วันสุดท้ายได้สั่งให้เปิดเรือนคลังเก็บผ้า นำผ้าเนื้อดีเลิศมาวางถวายไว้แทบยุคลบาทของพระพุทธเจ้า และถวายพระสาวกแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์ได้เป็นเหมือนภิกษุรูปที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเมื่อ 7 วันก่อนจากนี้ด้วยเถิด นั่นคือขอให้ได้บวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าในอนาคต แล้วได้รู้แจ้งธรรมก่อนใครหมด” พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า ในอีก 100,000 กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้รู้แจ้งธรรมก่อนใคร และจักได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู ท่านได้ฟังเช่นนั้นแล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ ครั้นถึงวันประดิษฐานพระเจดีย์ ก็ได้สร้างเรือนแก้วไว้ภายในพระเจดีย์อีก 
         จากชาตินั้นบุญส่งผลให้ท่านเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงกาลสมัยของพระสมณโคดมพระพุทธเจ้า ด้วยบุญกุศลและเหตุที่ท่านตั้งจิตปรารถนามาตั้งแต่อดีตชาติ ได้ส่งผลให้ท่านได้มาพบและฟังธรรมจากพุทธเจ้า ได้รู้แจ้งธรรมและบวชในพระพุทธศาสนาก่อนใคร และพระพุทธองค์ได้ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านรัตตัญญู สำเร็จสมความปรารถนาดังที่ตนได้ตั้งใจไว้ในอดีตชาตินั่นแล

     ก้าวแรกเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดเพราะถ้าไม่มีก้าวแรกแล้วก้าวต่อไปจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เช่นเดียวกันกับการปฎิบัติธรรม คุณธรรมข้อแรกที่สำคัญที่สุดคือศรัทธา(ความเชื่่อว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เชื่่อว่านรกสวรรค์มีจริง) ถ้าหากเราขาดศรัทธาเสียแล้วคุุุุุณธรรมข้ออื่นก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย แต่ถ้าหากใจของเรามีศรัทธา ไม่ว่าอุปสรรคหรือปัญหาและความยากลำบากสักเพียงไหน ก็ไม่เคยหวั่นไหว และพร้อมจะก้าวผ่านปัญหาทั้งหลายเดินไปสู่จุดหมายปลายทางด้วยพลังแห่งศรัทธาอันยิ่งใหญ่และมั่นคง
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อดีตชาติของพระราหุลและพระรัฐปาลเถระ

 

          หนึ่งแสนกัปที่แล้ว ในศาสนาของพระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระราหุลเถระและพระรัฐปาลเถระได้เกิดเป็นเป็นสหายกันในครอบครัวคฤหบดีผู้มีฐานะมั่งคั่งในพระนครหังสวดี เมื่อบิดาสิ้นชีวิตลงต่างคิดว่าเมื่อตอนญาติของตนยังมีชีวิตอยู่ต่างก็ไม่เคยทำบุญให้ทานเลย ซึ่งเมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติติดต้วไปได้ อย่ากระนั้นเลยเราสองคนควรนำทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ให้ติดกับต้วเราไปในภพหน้าดีกว่า เมื่อทั้งสองคิดได้เช่นนั้นึงได้นำทรัพย์สมบัติไปทำบุญให้ทานแก่คนยากจนอนาถา และตั้งโรงทานในในสถานที่ ๔ แห่ง
           วันหนึ่งสหายทั้งสองนั้นออกไปนอกบ้านแต่เช้าตรู่ ได้พบดาบสผู้มีฤทธิ์มาก ๒ รูปเหาะมาจากป่าหิมพานต์เพื่อภิกขาจาร(เที่ยวบิณฑบาตเที่ยวไปเพื่อขอ)แล้วมาลงในที่ไม่ไกลจากที่สหายทั้งสองยืนอยู่ สหายทั้งสองจึงมาไหว้ใกล้ๆแล้วถวายภัตตาหาร ครั้นในเวลาเสร็จภัตรกิจ ดาบสรูปหนึ่งเมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฏฐากของตน(พระราหุลเถระ) ก็ให้พรว่า“ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพปฐวินทรนาคราชเถิด” ตามที่ท่านได้แลเห็นสมบัติต่างๆในภพนาคราชมาว่ามีมากมายและสวยงามมาก สหายผู้นั้น(พระราหุลเถระ)เมื่อรู้ความหมายเช่นนั้นแล้วก็ตั้งจิตมั่นปรารถนาอยู่ในภพของพระยานาคชื่อว่าปฐวินทร ส่วนดาบสอีกรูปหนึ่งก็เช่นกัน เมื่อจะกระทำอนุโมทนาแก่อุปัฏฐากของตน(พระรัฐปาลเถระ)ก็ให้พรว่า “ขอจงสำเร็จเหมือนดังภพท้าวสักกเทวราชเถิด” ความที่ท่านกล่าวให้พรดังนี้ก็เพราะท่านได้เคยเที่ยวไปเที่ยวมาในดาวดึงส์พิภพ จึงได้แลเห็นสมบัติต่างๆของท้าวสักกเทวราชนั้นว่ามีมากมายและสวยงามเพียงใด     เมื่อรู้ความหมายเช่นนั้นแล้ว สหายผู้นั้น(พระรัฐปาลเถระ)ก็ตั้งจิตมั่นปรารถนาอยู่ในภพของท้าวสักกเทวราช
            เมื่อทั้งสองสิ้นชีวิตลงแล้ว ด้วยกุศลกรรมที่สหายทั้งสองได้บำเพ็ญมาก็ได้ส่งผลให้ไปเกิดในภพที่ตนตั้งจิตปรารถนาไว้ สหายผู้ที่เกิดในภพของปฐวินทรนาคราชก็มีชื่อว่าปฐวินทรนาคราชา ซึ่งสหายผู้เกิดเป็นพระยานาคราชนั้น เมื่อเห็นสภาพของตนที่เกิดมาในเพศของนาคก็เกิดความร้อนใจว่า การเกิดของเราอยู่ในฐานะที่ไม่น่าพอใจหนอ ที่นี้เป็นที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง ส่วนสหายอีกผู้หนึ่งก็ได้ไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในดาวดึงส์พิภพ ต่อมาเมื่อถึงเวลาที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่มีหน้าที่จะต้องไปเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราชทุกๆกึ่งเดือน ซึ่งปฐวินทรนาคราชานั้นก็ตามไปเฝ้าท้าวสักกะพร้อมกับพระยานาคชื่อว่าวิรูปักษ์ด้วย
      เมื่อท้าวสักกะเห็นพระยานาคราชนั้นก็จำได้ว่าเป็นสหายเก่า จึงถามพระยานาคราชนั้นว่า “สหายท่านไปเกิดที่ไหน” พระยานาคราชกล่าว“ท่านมหาราชอย่าถามเลย ข้าพเจ้าไปเกิดในที่ที่ต้องเลื้อยไปด้วยท้อง ส่วนท่านได้อยู่ในที่ที่ดีแล้ว” ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า “สหายท่านอย่าวิตกไปเลยว่าเกิดในที่ไม่สมควร บัดนี้พระทศพลพระนามว่าปทุมุตตระทรงเสด็จมาอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ท่านจงกระทำกุศลกรรมแด่พระองค์นั้นแล้วปรารถนาฐานะนี้เถิด เราทั้งสองจักอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข”
           พระยานาคราชนั้นกล่าวว่า “เทวะ ข้าพเจ้าจักกระทำอย่างนั้น” หลังจากนั้นไม่นานพระยานาคราชนั้นจึงไปนิมนต์พระปทุมุตตรทศพลเพื่อให้มาฉันภัตราหารที่นาคภิภพ พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาพร้อมพระสาวกผู้มีอภิญญา หนึ่งในพระสาวกที่ได้ร่วมเดินทางมาด้วยนั้นมีสามเณรชื่อว่า อุปเรวตะ ผู้เป็นโอรสของพระตถาคตร่วมเดินทางมาด้วย ปฐวินทรนาคราชาเมื่อเห็นสามเณรณอุปเรวตะก็เกิดศรัทธา ปรารถนาที่อยากจะเกิดเป็นเช่นเดียวกับสามเณรอุปเรวตะบ้าง เมื่อถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าตลอด 7 วัน และในวันสุดท้ายก็ได้ตั้งจิตปรารถนาขอให้กุศลกรรมที่ได้ทำนี้ได้ส่งผลให้ข้าพเจ้าได้ไปเกิดเช่นเดียวกับสามเณรอุปเรวตะในอนาคตกาลด้วยเถิด พระปทุมุตตระบรมศาสดาทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าความปรารถนาของปฐวินทรพญานาคจะสำเร็จสมความปรารถนา จึงได้ทรงตรัสพยากรณ์ว่า“ในอนาคต มหาบพิตรจักเป็นโอรสแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะชื่อว่าพระราหุล ทรงพยากรณ์ดังนี้แล้วเสด็จกลับไป
           ส่วนปฐวินทรนาคราชาเมื่อได้ไปเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราชอีกครั้ง ท้าวสักกเทวราชจึงได้ถามปฐวินทรนาคราชาว่า ท่านยังปรารถนาที่จะเกิดในเทวโลกนี้เหมือนเดิมอีกหรือไม่” ปฐวินทรนาคราชตอบว่า ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาที่จะเกิดในเทวโลกนี้อีกแล้ว แต่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะเกิดเป็นโอรสเช่นเดียวกับสามเณรอุปเรวตะ โอรสของพระปทุมุตตระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ข้าแต่มหาราช แม้พระองค์ก็จงกระทำความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่งเถิด เราทั้ง๒จักไม่พรากจากกันในที่ๆเกิดใหม่ ท้าวสักกะเทวราชรับคำของพระยานาคนั้น ต่อมาวันหนึ่งท้าวสักกะเทวราชเห็นภิกษุผู้มีอานุภาพมากรูปหนึ่ง จึงเกิดศรัทธา อยากเกิดเหมือนภิกษุรูปนั้นบ้าง จึงได้ถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าติดต่อกัน 7 วัน และในวันสุดท้ายก็ได้ตั้งจิตปรารถนาขอให้ในอนาคตกาล ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ขอให้ได้เกิดเหมือนภิกษุรูปที่ตนศรัทธานี้ด้วยเถิด พระปทุมุตตระพุทธเจ้าจึงทรงพยากรณ์ว่า มหาบพิตรพระองค์จักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้บวชด้วยศรัทธาในศาสนาของพระโคตมะพุทธเจ้าในอนาคต แล้วจึงเสด็จกลับไป เมื่อทั้ง2สิ้นอายุขัยแล้วก็เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างอีกหลายภพชาติ จนมาถึงในชาติสุดท้ายนี้ ในสมัยของพระโคดมพระพุทธเจ้าเรานี้ ปฐวินทรนาคราชานั้นก็ได้มาเกิดเป็นพระราหุล เป็นโอรสของพระพุทธเจ้า ส่วนท้าวสักกะในครั้งนั้นก็ได้มาเกิดเป็นพระรัฐปาลเถระตามที่ตนปรารถนานั่นแล

     เติมเต็มความอบอุ่นลงไปในจิตใจซึ่งกันและกันด้วยความผูกพัน หากแม้ว่าขาดคนหนึ่งคนใดไปจิตใจก็พร่อง เหมือนดั่งเช่นร่างกายที่ขาดอากาศสำหรับหายใจฉันนั้น
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

การได้สมบัติสวรรค์วิมานเพราะการถวายผลมะม่วง


      ในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ สมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสารเกิดความอยากจะเสวยผลมะม่วง ท้าวเธอจึงตรัสกะพนักงานเฝ้าสวนว่า เจ้าจงนำมะม่วงมาให้ข้าทีเถิด พนักงานเฝ้าสวนก็กลับไปที่สวน นำมะม่วงสุก ๔ ผล มีสีแดงเรื่อดังผงชาด มีกลิ่นรสหอมหวาน มาเพื่อจะถวายพระราชา
     ระหว่างทางพบท่านพระมหาโมคคัลลานะกำลังบิณฑบาต คิดว่ามะม่วงเหล่านี้เป็นผลไม้ชั้นยอด จำเราจักถวายพระผู้เป็นเจ้าเสียเถิด พระราชาจะทรงฆ่า หรือเนรเทศเราก็ตามที เพราะว่าเมื่อเราถวายพระราชา ก็จะพึงมีผลเล็กน้อยเพียงค่าตอบแทนในปัจจุบัน แต่เมื่อเราถวายพระผู้เป็นเจ้าแล้ว จักมีผลไม่มีประมาณ ทั้งปัจจุบันทั้งภายหน้า ครั้นคิดอย่างนี้แล้วก็ถวายผลมะม่วงเหล่านั้นแก่พระเถระ แล้วเข้าเฝ้า กราบทูลเรื่องนั้นถวายแด่พระราชา พระราชาทรงสั่งราชบุรุษว่า พนาย พวกเจ้าจงสอบสวนอย่างที่บุรุษผู้นี้กล่าวก่อน
      ส่วนพระเถระนำผลมะม่วงเหล่านั้นน้อมถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในผลมะม่วงเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานแก่ท่านพระสารีบุตรผล ๑ ท่านพระมหาโมคคัลลานะผล ๑ ท่านพระมหากัสสปะผล ๑ เสวยเองผล ๑
       ฝ่ายพวกราชบุรุษจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระราชาพระราชาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ทรงปลื้มพระทัยว่า บุรุษผู้นี้เป็นบัณฑิตที่ยอมสละชีวิตตนขวนขวายแต่บุญ และได้สร้างฐานความลำบากใจให้แก่ตนเอง แล้วพระราชทานบ้านส่วยตำบล ๑ และผ้าผ่อนเครื่องประดับเป็นต้นแก่เขาแล้วตรัสว่า พนาย เจ้าขวนขวายบุญด้วยการถวายผลมะม่วงเป็นทาน เจ้าจงให้ส่วนบุญจากทานนั้นแก่เราบ้างสิ
      เขากราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ข้าพระบาทขอถวาย โปรดทรงรับส่วนบุญตามสมควรเถิด พระเจ้าข้า
      ครั้นอยู่ต่อมา เมื่อพนักงานเฝ้าสวนตายลง ก็ไปบังเกิดเป็นเทพบุตร อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทอง ๑๖ โยชน์ โดยรอบห้องรโหฐาน ๗๐๐ ล้วนเสาแก้วไพฑูรย์ ปูลาดด้วยเครื่องลาดอันสวยงาม ท่านนั่งดื่มและกินอยู่ในวิมานนั้น พิณทิพย์บรรเลงไพเราะ เหล่าเทพกัญญาชั้นไตรทศ ๖๔,๐๐๐ ล้วนแต่ดี ผู้ชำนาญศิลป์พากันฟ้อนรำขับร้อง ทำความบันเทิงอย่างโอฬารแก่เขา ท่านบรรลุเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก มีอานุภาพรุ่งเรือง และมีวรรณะสว่างไสวไปทุกทิศ ก็ด้วยผลบุญกุศลที่ได้ถวายมะม่วงแด่พระมหาโมคคัลลานะ ในครั้งนั้นนั่น
เอง
      ฉะนั้นจะเห็นกันได้ว่า ผู้ใดมีใจเลื่อมใสในท่านผู้ปฏิบัติตรง เมื่อถวายทานแด่ท่านผู้ปฏิบัติตรง ย่อมได้ผลอันไพบูลย์ ย่อมเข้าถึงสวรรค์ชั้นไตรทิพย์ มีเดชและมีอานุภาพมาก อย่างเช่นพนักงานเฝ้าสวนมะม่วงที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นไว้

   พริกขี้หนูแม้เม็ดจะเล็กก็เผ็ดกว่าพริกเม็ดใหญ่ทั้งปวงฉันใด ทาน(ถึงแม้ว่าทรัพย์จะน้อย)ที่ให้ด้วยศรัทธาและปัญญา ย่อมได้รับอานิสงส์ที่มากกว่า ทาน(ถึงแม้ว่าทรัพย์จะมาก)ที่ให้ด้วยไม่ศรัทธา และไม่มีปัญญาฉันนั้น
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

อดีตชาติของพระสีวลี 


      พระสีวลีเป็นพระอสีติมหาสาวก1ใน80องค์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงยกย่องให้ท่านอยู่ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นผู้เลิศด้วยมีลาภมาก เหตุที่ทำให้ท่านเป็นผู้มีลาภสักการะมาก ก็เพราะด้วยเหตุที่ท่านได้สร้างบารมีและตั้งจิดอธิฐานมาตั้งแต่อดีตชาตินั่นเอง ดังจะกล่าวต่อไปนี้
          ในแสนกัปที่แล้ว ท่านได้เกิดในสมัยของพระปทุมุตตระพระพุทธเจ้า ในครั้งนั้นท่านได้เกิดเป็นกษัตริย์ในพระนครหงสวดี ได้ยินว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งสาวกของพระองค์ชื่อสุทัสสนะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้มีลาภมาก ดังนั้นท่านทรงปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกทั้งหลายให้เดินทางมาเสวยและฉันภัตราหราถึง ๗ วัน ครั้นได้ถวายมหาทานแล้วก็ได้ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ท่านได้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภในอนาคตกาลด้วยเถิด พระปทุมุตตระพระพุทธเจ้า จึงทรงพยากรณ์ว่าความปรารถนาของท่านนี้จะสำเร็จในอีกแสนกัปข้างหน้า ท่านจะบังเกิดในนามสีวลี ได้บวชในสำนักของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคตมะ
          ครั้นท่านได้รับพุทธพยากรณ์เช่นนั้นแล้วก็รู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นยิ่งนัก หมั่นทำบุญสร้างกุศลอย่างต่อเนื่อง ครั้นเมื่อสิ้นชีวิตจากชาตินั้นแล้วก็ได้ท่องเที่ยวไปภพภูมทั้งหลาย ครั้นในกัปที่ ๙๑ ท่านก็ได้ไปเกิดในกาลสมัยของพระวิปัสสีพุทธเจ้า ท่านได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้าและตั้งจิตปรารถนาว่า ขอให้เกิดมาในภพชาติใดขอความไม่มีจงอย่างบังเกิดแก่ข้าพเจ้าเถิด และขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงความเลิศด้วยลาภด้วยเถิด พระวิปัสสีพุทธเจ้าก็ทรงตรัสว่า ดูก่อนกุลบุตร ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จอย่างนั้น หลังจากชาตินั้นแล้วท่านก็ได้ท่องเที่ยวไปภพภูมทั้งหลาย จนมาถึงสมัยของพระโคดมพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านพระสีวลีก็ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสุปปวาสา ราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ กษัตริย์พระนครโกลิยะ ท่านอยู่ในครรภ์มารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน 7 วัน เหตุที่ทำให้ท่านต้องอยู่ในครรภ์มารดานานเช่นนั้นก็เพราะว่าในอดีตชาติ มีอยู่ชาติหนึ่งท่านได้เกิดเป็นพระราชาได้ยกทัพไปล้อมเมือง เพื่อจะตีเมืองขึ้น ท่านได้ล้อมเมืองนานถึง ๗ ปี ๗ เดือน 7 วัน ด้วยผลของกรรมนั้นนั่นเองได้ส่งผลให้ท่านต้องไปตกอยู่ในนรกอเวจีอย่างยาวนาน เมื่อพ้นจากนรกอเวจีแล้ว ด้วยเศษของกรรมนั้น จึงได้ส่งผลให้ท่านต้องมาอยู่ในครรภ์ของมารดานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน 7 วัน หลังจากที่ท่านคลอดออกมาแล้ว พระนางสุปปวาสผู้เป็นมารดาก็ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกทั้งหลายมาเสวยภัตตาหารตลอด ๗ วัน และในวันที่ ๗ พระโอรสสีวลีก็ได้พบและสนทนาธรรมกับพระสารีบุตร จึงเกิดศรัทธาอยากบวช ซึ่งพระนางสุปปวาสผู้เป็นมารดาก็ไม่ขัดข้ง พระสารีบุตรจึงบวชให้ และในขณะที่จรดมีดโกนเพื่อปลงผมพระสีวลีกุมารครั้งแรก พระสีวลีก็บรรลุโสดาปัตติผล และในขณะที่จรดมีดโกนเพื่อปลงผมครั้งที่ ๒ ท่านก็ได้บรรลุสกทาคามิผล และในขณะที่จรดมีดโกนเพื่อปลงผมครั้งที่๓ ท่านก็ได้บรรลุอนาคามิผล และเมื่อเวลาปลงผมสำเร็จ ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
        พระสีวลีนั้นถือว่าเป็นพระอรหันต์ที่มีความสำคัญอีกรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุที่ท่านได้บำเพ็ญบารมีมาด้านมีลาภมาก ไม่ว่าท่านจะอยู่ ณ.ที่แห่งใด จะเดินทางไปที่ไหน ลาภสักการะย่อมไหลมาเทมาหาท่านอย่างไม่ขาดสาย ทำให้พระภิกษุสงฆ์และผู้ที่อยู่ใกัลทั้งหลายอยู่อย่างสุขสบายและพลอยได้รับอานิสงส์ตามท่านไปด้วย และด้วยเหตุนี้เองพระพุทธองค์ได้ทรงยกย่องและแต่งตั้งให้ท่านอยู่ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านเป็นผู้เลิศด้วยลาภมาก ตามที่ท่านปรารถนาและตั้งใจเอาไว้ ตั้งแต่ในอดีตชาตินั่นแล


ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกสี เลือกแต่คุณงามความดีให้อยู่คู่ใจ
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

จิตตลดาวิมาน


           มารดาและบิดาเป็นพรหมของบุตร เป็นบุรพาจารย์ของบุตร เป็นผู้ควรรับของคำนับของบุตร และว่าเป็นผู้อนุเคราะห์บุตร เพราะเหตุนั้นแล บุตรผู้เป็นบัณฑิตพึงนอบน้อมและสักการะมารดาบิดาทั้ง ๒ นั้นด้วย ข้าว น้ำ ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน การขัดสี การให้อาบน้ำ และการล้างเท้า บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุตรนั้นด้วยการบำรุงในมารดาบิดาในโลกนี้ ครั้นบุตรนั้นละโลกนี้ไปแล้วย่อมบันเทิงในสวรรค์ อย่างเช่นอุบาสกยากจนคนหนึ่งที่เลี้ยงดูมารดา ซึ่งหลังจากตายไปแล้วก็ได้ไปเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดั่งได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฏก
           ในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ.วิหารเชตวัน กรุงสาวัตถี สมัยนั้นมีอุบาสกคนหนึ่งเป็นคนยากจน มีโภคะน้อย รับจ้างทำงานของผู้อื่นเลี้ยงชีพ เขาเป็นคนมีศรัทธาปสาทะ เลี้ยงดูมารดาบิดาซึ่งแก่เฒ่า เขาคิดว่าขึ้นชื่อว่าผู้หญิงมีสามีมักแสดงตัวเป็นใหญ่ ที่ประพฤติให้ถูกใจแม่ผัวพ่อผัวหายาก หลีกเลี่ยงความร้อนใจของบิดามารดา จึงไม่แต่งาน เลี้ยงดูท่านเสียเอง รักษาศีลถืออุโบสถ ให้ทานตามกำลังทรัพย์
          ต่อมาเขาทำกาลกิริยาตาย ไปบังเกิดในวิมาน ๑๒ โยชน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้งน้ันท่านพระมหาโมคคัลลานะได้เที่ยวจารึกไปบนเทวโลก ได้พบเทพบุตรองค์นั้น จึงได้ถามถึงบุพกรรมที่ได้ทำเอาไว้ ด้วยใจความดังต่อไปนี้
            สวนจิตลดาเป็นสวนประเสริฐสูงสุดของชาวไตรทศ ย่อมสว่างไสวฉันใด วิมานของท่านนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น ย่อมสว่างไสวลอยอยู่ในอากาศ ท่านถึงความเป็นเทพเจ้าผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมาก เมื่อครั้งท่านเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้ ท่านมีอานุภาพอันรุ่งเรืองและมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญอะไร?
            เทพบุตรนั้นอันพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว มีความปลาบปลื้มใจ จึงพยากรณ์ปัญหาแห่งผลกรรมที่ถูกถามนั้นว่า ในครั้งที่ข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์ เป็นคนขัดสน ไม่มีที่พึ่ง เป็นคนกำพร้า เป็นกรรมกร เลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่า อนึ่งท่านผู้มีศีลเป็นที่รักของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีจิตเลื่อมใส ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอันไพบูลย์โดยความเคารพ ข้าพเจ้ามีวรรณะงามเช่นนี้ เพราะบุญนั้นฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้ เพราะบุญนั้น

       โอกาสเป็นสิ่งที่มีไม่เท่ากัน บ้างมีโอกาส บ้างไม่มีโอกาส บ้างประมาทในกาลเวลา เลยเสียโอกาส กตัญญู( ความรู้คุณ)เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง กตเวที( ตอบแทนคุณ)เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า หากไม่รู้คุณและไม่ตอบแทนคุณแลัว ชีวิตก็พร่อง ไม่พร้อมกับคำว่าพุทธศาสนิกชนที่ดี
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

ทำบุญกับพระปลอมได้ไปสวรรค์ทำบุญกับพระอรหันต์ดันตกนรก


        ความเสื่อมของมนตราอยู่ที่การไม่ทบทวน ควาามเสื่อมของเรือนอยู่ที่ไม่ซ่อมแซม ความเสื่อมของความงามอยู่ที่เกียจคร้านตบแต่ง ความเสื่อมของนายยามอยู่ที่ความเผลอเลอ ความเสื่อมของภพภูมิอยู่ที่การไม่รักษาจิต เพราะจิตที่ตั้งไว้ผิดย่อมนำทุกข์มาให้ ดั่งเช่นเรื่องที่ได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
      ในครั้งพุทธกาลมีพระราชาองค์หนึ่งมีใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก ทุกเช้าจะเสด็จลงมาใส่บาตรแก่พระอรหันต์ที่เข้ามาบิณฑบาตในพระราชวัง ในขณะเดี่ยวกันก็มีชายยากจนคนหนึ่งเห็นพระอรหันต์ที่เข้ามาบิณฑบาตในพระราชวังแล้วได้อาหารอย่างมากมาย จึงได้ปลอมเป็นพระเที่ยวเดินบิณฑบาตเข้าไปในพระราชวังด้วยอาการที่สงบ สำรวม น่าเลื่อมใสศรัทธาเช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลาย เมื่อพระราชาเห็นพระปลอมรูปนั้นเข้าก็เกิดศรัทธา เมื่อใส่บาตเสร็จแล้วได้ถามอำมาตย์ว่าท่านรู้จักพระรูปนั้นหรือไม่ว่าอยู่สำนักใด เพื่อจะได้ติดตามไปอุปัฏฐาก อำมาตย์บอกว่าไม่ทราบ พระราชาจึงสั่งให้อำมาตย์ติดตามไปดู ครั้นพระปลอมนั้นพอเดินออกจากประตูพระราชวังเรียบร้อยแล้วจึงได้เปลี่ยนจีวรและซุกบาตรไว้ในป่า แล้วนำอาหารกลับบ้านไป ฝ่ายอำมาตย์พอเห็นเช่นนั้นก็ตกใจ พอกลับถึงพระราชวัง ครั้นจะบอกความจริงแก่พระราชาก็กลัวว่าจะเสียพระทัย จึงกราบทูลว่าได้ติดตามพระรูปดังกล่าวไปถึงชายป่า หลังจากนั้นพระรูปนั้นก็ได้หายไป เมื่อพระราชาได้ฟังเช่นนั้นก็คิดว่า
คงจะเป็นพระอรหันต์อย่างแน่แท้ ทำให้เกิดปิติโสมนัส จิตใจแช่มชื่นและอิ่มเอิบอยู่ตลอดเวลา 
          ครั้นต่อมาเมื่อพระราชาได้สวรรคต ด้วยจิตใจที่เป็นกุศลคิดแต่พระรูปนั้นอยู่เสมอว่าเป็นพระอรหันต์ก็ได้ส่งผลให้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ ส่วนอำมาตย์นั้นอยู่ต่อมาเกิดเจ็ปป่วย เมื่อใกล้ตายพวกลูกหลานจึงได้ไปนิมนต์พระอรหันต์มาที่บ้านเพื่อให้อำมาตย์ได้ถวายทาน เพื่อสร้างกุศลจิต เมื่อทำบุญเสร็จแล้ว แทนที่จิตของอำมาตย์จะผ่องใสเป็นกุศล  แต่ด้วยอำนาจของจิดที่ฝังใจที่เคยเห็นพระปลอมมา ก็คิดว่าพระอรหันต์ที่มาที่บ้านนั้นคงจะเป็นพระปลอมเช่นเดียวกันเป็นแน่แท้ ทำให้จิดเศร้าหมอง ครั้นเมื่อตายลงก็ได้ไปบังเกิดอยู่ในนรก เพราะจิตเป็นอกุศลนั่นเอง
          ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจิตดวงสุดท้าย(จุติจิต)นั้นเป็นจิตที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นเหตุให้ชักนำไปเกิด(ปฏิสนธิจิต)อยู่ในภพภูมิใดก็ขึ้นอยู่ที่จิดดวงสุดท้ายนั่นเอง ถ้าจิตดวงสุดท้ายเป็นกุศล ก็จะนำไปเกิดในสุคติภูมิอย่างเช่นพระราชา แต่ถ้าจิตดวงสุดท้ายเป็นอกุศล ก็จะชักนำไปเกิดในทุคติภูมิอย่างเช่นอำมาตย์นั่นแล


      อย่าพึ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น อย่าเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ เพราะสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่ของจริงเสมอไป สิ่งที่ไม่ใช่ ก็ไม่สบายใจ เท่ากับเป็นตัวของเราเอง
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

พระอินทร์แปลงกายใส่บาตรพระมหากัสสปะเถระ  


        ในกัปที่ว่างจากพระพระพุทธศาสนา ในครั้งนั้นแล มีมานพคนหนึ่งมีนามว่า มาฆะมานพ ได้บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ คือ ๑.เลี้ยงดูบิดามารดา ๒.เคารพต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ๓.กล่าววาจาที่อ่อนหวาน ๔.ไม่กล่าวคำส่อเสียด ๕.ไม่มีความตระหนี่ ๖.มีความสัตย์ ๗.ระงับความโกรธไว้ได้ อีกทั้งมาฆะมานพผู้นี้ยังใจบุญสุนทาน เป็นผู้นำหมู่บ้าน ได้ชักชวนมิตรสหายอีก 32 คน ร่วมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะกุศล อธิเช่น ขุดสระ ทำถนนหนทาง สร้างศาลาให้คนเดินทางพ้กร้อนและอื่นๆเป็นต้น และด้วยผลบุญกุศลที่มีในครั้งนั้นนั่นเอง เมื่อสิ้่นชีพ ก็ได้ส่งผลให้มาฆะมานพได้ไปบังเกิดเป็นพระอินทร์ ครองความเป็นใหญ่เหนือเทวดาทั้งหลาย อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมทิพย์วิมาน ส่วนมิตรสหายทั้ง 32 คนที่ร่วมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะกุศลด้วยกันนั้น ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรแวดล้อมพระอินทร์อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นั่นนั่นเอง
      อยู่ต่อมาจนกระทั่งถึงในกาลสมัยของพระพุทธของเรา ในสมัยนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายต่างมีจิตศรัทธา พากันทำบุญ รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่อย่างเนืองนิตย์ บางคนก็ได้บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ บางคนก็ได้ไปเกิดบนสวรรค์ ตามบุญบารมีของตนที่สะสมมา
     มีอยู่วันหนึ่งพระอินทร์ได้เสด็จออกมานอกวิมาน ทรงพบกับเทพบุตร ๓ องค์พาบริวารมาเล่นนักขัตฤกษ์ เทพบุตรทั้ง ๓ องค์นั้นมีรัศมีทิพย์สว่างไสว จนข่มรัศมีของพระอินทร์ให้หมองลง พระอินทร์จึงรีบเสด็จกลับวิมานเวชยันต์ปราสาทของตนทันที ด้วยความอายว่าพระองค์เป็นถึงจอมเทพ แต่รัศมีกายของพระองค์สว่างสู้รัศมีกายของเทพบริวารไม่ได้ พระองค์ทรงพิจารณาดูว่าจะทำอย่างไรดีหนอรัศมีกายของพระองค์จึงจะสว่างรุ่งเรืองขึ้น พอดีทอดพระเนตรเห็นพวกนางอัปสรบาทบริจาริกา ที่พึ่งกลับมาจากเมืองมนุษย์ จึงตรัสถามว่าพวกเธอไปไหนกันมา นางอัปสรกราบทูลว่า ไปใส่บาตรพระมหากัสสปะเถระที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติมา บอกว่าอานิสงส์ของการใส่บาตรพระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัตินั้นสูงมาก เพราะสิ่งที่พระอรหันต์ที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติต้องการก็คือ อาหาร เพราะร่างกายของท่านไม่ได้ฉันอาหารเลยตลอดระยะเวลา 7 วันที่อยู่ในนิโรธสมาบัติ และอาหารมือแรกที่ใครถวายต่อท่านย่อมได้รับอานิสงส์ที่สูงมาก และย่อมส่งต่อผู้ถวายภายในระยะเวลา 7 วัน แต่พระเถระไม่รับบาตร เพราะท่านจะใช้สงเคราะห์พวกคนยากจนเข็ญใจเท่านั้น
        พระอินทร์เมื่อได้ฟังดังนั้น จึงคิดในใจว่า เราจะต้องไปใส่บาตรพระเถระให้จงได้ จึงเสด็จลงมาที่เมืองมนุษย์ แล้วแปลงกายเป็นช่างทอผ้า เป็นคนชรา เพื่อดักรอพระมหากัสสปะระหว่างทาง
       ฝ่ายพระมหากัสสปะเถระ เมื่อออกจากนิโรธสมาบัติแล้ว ก็เดินบ่ายหน้าเข้าเมือง เพื่อหวังจะสงเคราะห์พวกคนยากจนเข็ญใจ ครั้นพอเดินมาถึงเรือนของช่างทอผ้า(พระอินทร์)ที่แปลงกายรออยู่นั้น เห็นช่างทอผ้าที่แก่ชรา ต้องทำงานหนัก เกิดสงสาร จึงหยุดอยู่ที่หน้าเรือนเพื่อรอรับบิณฑบาต 

     ฝ่ายช่างทอผ้า(พระอินทร์)ได้ที เห็นพระมหากัสสปเถระหยุดอยู่ที่หน้าเรือน ตามแผนที่เตรียมเอาไว้ จึงได้รีบเดินออกมาใส่บาตรจนเต็ม แต่ข้าวที่ใส่บาตรนั้นเป็นข้าวทิพย์ จึงส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่วทั้งพระนคร พระเถระฉุกคิดได้ว่าช่างทอผ้านี้เป็นคนยากจน แต่เหตุไฉนอาหารที่ใส่บาตรกลับมีกลิ่นหอมราวกับโภชนะของพระอินทร์ที่อยู่บนสวรรค์จึงเพ่งดูด้วยญาณ ก็รู้ว่า ช่างทอผ้านี้ที่แท้ก็คือพระอินทร์นั่นเอง
      พระเถระจึงกล่าวว่า พระองค์เป็นถึงพระอินทร์ แล้วเหตุใดจึงมาแย่งสมบัติที่ควรแก่คนเข็ญใจเสียเล่า ใครก็ตามที่ได้ใส่บาตรอาตมาภาพในวันนี้ เขาจะพึงได้ตำแหน่งเสนาบดีหรือตำแหน่งเศรษฐีอย่างแน่นอน
        พระอินทร์ตรัสตอบว่า คนเข็ญใจยิ่งกว่าข้าพเจ้านี้คงไม่มีอีกแล้วพระคุณเจ้า
        พระเถระจึงถามว่า พระองค์เสวยทิพย์สมบัติในเทวโลก จะเป็นคนยากจนเข็ญใจได้อย่างไรกัน
       พระอินทร์ ทรงตอบว่า ข้าพเจ้าทำบุญไว้มากจึงได้ทิพย์สมบัติทั้งหลาย แต่บุญเหล่านั้นก็มีอานิสงส์เพียงแค่น้อยนิด เพราะเป็นบุญที่ทำไว้ครั้งโลกยังว่างจากพระพุทธศาสนา บัดนี้มีพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นแล้ว เทพบุตรทั้ง ๓ องค์ คือ จูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร และอเนกวัณณเทพบุตร ได้ทำบุญในพระพุทธศาสนา จึงได้อานิสงส์มาก เมื่อไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในเทวโลก เขาเหล่านั้นจึงมีรัศมีรุ่งเรืองมาก ถมทับรัศมีของข้าพเจ้าจนหมด จนข้าพเจ้าไม่อาจอยู่สู้หน้าได้ ต้องรีบหลบเข้าวิมาน จะหาใครเข็ญใจเท่าข้าพเจ้านี้ได้อีกเล่า
       พระกัสสปะเถระจึงบอกว่า ต่อไปนี้ขอพระองค์อย่าไปแย่งสมบัติของพวกคนยากจนอีกเลย พระอินทร์ก็อภิวาทพระเถระ ทรงทำประทักษิณ แล้วเหาะกลับสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
   และด้วยผลบุญกุศลที่พระอินทร์ได้ใส่บาตรพระกัสสปะเถระที่เพิ่งออกจากนิโรจน์สมาบัติและได้ฟ้งธรรมจากพระพุทธเจ้าอย่างเนืองนิตย์ ก็ได้ส่งผลให้รัศมีกายและรัศมีวิมานของท่านรุ่งเรืองกว่าเทพบุตรทั้งหลายที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม่ต้องอับอายและหลบหน้าเทพบุตรทั้งหลายอีกต่อไป
   ในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า พระอินทร์องค์นี้ในอนาคตกาล เมื่อจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว จะมาเกิดเป็นพระราชาในโลกมนุษย์ แล้วจะได้บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระสกิทาคามี เมื่อสิ้นอายุขัยในโลกมนุษย์แล้วก็จะได้กลับไปเกิดเป็นพระอินทร์อีกที แล้วก็จะได้บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอนาคามีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อจุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว ก็จะไปเกิดเป็นพระพรหมในพรหมโลก แล้วก็จะได้บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันดับขันธ์เข้าสู่นิพพานในพรหมโลก ณ.ชั้นอกนิษฐสุทธาวาสนั่นแล


      บุญและบาปไม่มีสูญหาย อยู่คู่ร่างกาย ถูกเก็บไว้ในภวังค์จิต ได้เวลาย่อมส่งผลไปตามชนิด(กุศล.อกุศล)เป็นเหมือนญาติสนิท เป็นเงาตามติดทุกภพชาติไป
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

 กัณฐกวิมาน(ว่าด้วยการได้สมบัติวิมานของม้ากัณฐก)


           ในครั้งที่พระโมคคัลลานะเที่ยวไปในเทวโลก ได้พบเทพบุตรองค์หนึ่ง จึงได้เอ่ยถามเทพบุตรองค์น้ันว่า พระจันทร์มีรอยรูปกระต่ายในเดือนเพ็ญอันหมู่ดาวแวดล้อมเป็นอธิบดีของหมู่ดาวทั้งหลายย่อมโคจรไปโดยรอบฉันใด ทิพยวิมานนี้ก็อุปมาฉันนั้น ย่อมรุ่งโรจน์ด้วยรัศมีในเทพบุรีเหมือนดวงอาทิตย์กำลังอุทัยฉะนั้น
         พื้นวิมานน่ารื่นรมย์ใจวิจิตรไปด้วยแก้วไพฑูรย์ ทอง แก้วผลึก เงิน เพชรตาแมว แก้วมุกดาและแก้วทับทิม ปูลาดด้วยแก้วไพฑูรย์ ห้องรโหฐานงานน่ารื่นรมย์ ปราสาทของท่านอันบุญกรรมสร้างไว้อย่างดี สระโบกขรณีของท่านน่ารื่นรมย์กว้างขวาง ประดับด้วยแก้วมณีมีน้ำใสสะอาด ลาดด้วยทรายทองดาดาษด้วยปทุมชาติต่างๆรายรอบด้วยบัวขาว ยามลมรำเพยก็โชยกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจ สองข้างสระโบกขรณีของท่านนั้นมีพุ่มไม้สร้างไว้อย่างดี ประกอบด้วยไม้ดอกและไม้ผลทั้งสองอย่าง อัปสรทั้งหลายแต่งองค์ด้วยสรรพาภรณ์ ประดับด้วยมาลัยทองดอกไม้ต่างๆ พากันมาบำรุงบำเรอท้าวเทวราชผู้ประทับนั่งเหนือบัลลังก์[พระแท่น]เท้าทองคำ อ่อนนุ่ม ลาดด้วยผ้าโกเชาว์อย่างดี ต่างก็รื่นรมย์ ท่านทำท้าวเทวราชผู้มีมหิทธิฤทธิ์นั้นให้บันเทิง ดังท้าววสวัตดีเทวราช ท่านพรั่งพร้อมด้วยความยินดีในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี รื่นรมย์อยู่ด้วยกลอง สังข์ ตะโพน พิณและบัณเฑาะว์ รูป เสียง กลิ่น รสและโผฏฐัพพะมีอย่างต่างๆอันเป็นทิพย์ของท่านที่ท่านประสงค์แล้วน่ารื่นรมย์ใจ
         ดูก่อนเทพบุตร ท่านเป็นผู้มีรัศมีมาก รุ่งโรจน์ยิ่งด้วยวรรณะอยู่ในวิมานอันประเสริฐนั้น ดังดวงอาทิตย์กำลังอุทัยฉะนั้น นี้เป็นผลแห่งทานหรือศีล หรืออัญชลีกรรมของท่าน ท่านถูกอาตมาถามแล้ว โปรดบอกข้อนั้นแก่อาตมาทีเถิด
        เทพบุตรนั้นดีใจอันพระโมคคัลลานะถามแล้ว ก็พยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าคือกัณฐกอัศวราช สหชาต(เกิดพร้อม)ของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะในกรุงกบิลพัสดุ์ราชธานี ของกษัตริย์แคว้นศากยะ ครั้งใดพระราชโอรสเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์เพื่อโพธิญาณตอนเที่ยงคืน พระองค์ใช้ฝ่าพระหัตถ์อันนุ่มและพระนขาที่แดงปลั่ง ค่อยๆตบขาข้าพเจ้า และตรัสว่า พาเราไปเถิดเพื่อน เราบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดมแล้วจักยังโลกให้ข้ามโอฆสงสาร(ห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร)
          เมื่อข้าพเจ้าฟังพระดำรัสนั้น ได้มีความร่าเริงเป็นอันมาก ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานยินดีได้รับคำในครั้งนั้น ครั้นรู้ว่าพระศากโยรสผู้มียศใหญ่ประทับนั่งเหนือหลังข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้ามีใจเบิกบานบันเทิงนำพระมหาบุรุษไปถึงแว่นแคว้นของกษัตริย์เหล่าอื่น เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นพระมหาบุรุษนั้นมิได้ทรงอาลัย ละทิ้งข้าพเจ้าและฉันนอำมาตย์ไว้ เสด็จหลีกไป ข้าพเจ้าได้เลียพระบาททั้งสองซึ่งมีพระนขาแดงของพระองค์ ร้องไห้แลดูพระมหาวีระผู้กำลังเสด็จไป เพราะไม่ได้เห็นพระศากโยรสผู้ทรงสิรินั้น ข้าพเจ้าป่วยหนัก ก็ตายอย่างฉับพลัน ด้วยอานุภาพแห่งบุญนั้นแหละข้าพเจ้าจึงมาอยู่วิมานทิพย์นี้ ซึ่งประกอบด้วยกามคุณทุกอย่างในเทวนคร
         อีกอย่างหนึ่งข้าพเจ้าได้มีความร่าเริงเพราะได้ฟังเสียงเพื่อพระโพธิญาณ ว่าเราจักบรรลุความสิ้นอาสวะ ด้วยกุศลมูลนั้นเอง ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าพระคุณเจ้าจะพึงไปในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ศาสดาไซร้ ขอพระคุณเจ้าจงกราบทูลถึงการถวายบังคมด้วยเศียรเกล้ากะพระองค์ตามคำของข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าก็จักไปเฝ้าพระชินเจ้าผู้หาบุคคลอื่นเปรียบมิได้ การได้เห็นพระโลกนาถผู้คงทีหาได้ยาก


        เส้นทางร่มรื่นของชีวิตย่อมสถิตย์ได้ด้วยบุญ บุญเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต ชีวิตขาดบุญไม่ได้ ชีวิตขาดบุญเมื่อใดความทุกข์ความวุ่นวายย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้น เปรียบเสมือนกับต้นไม้ที่ขาดน้ำเมื่อใดก็แห้งเหี่ยวตายเมื่อนั้นเหมือนกัน บุญแท้อยู่ที่ไหน บุญแท้อยู่ที่การชำระล้างจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ ทุกๆคนย่อมที่จะสัมผัสบุญแท้ได้ด้วยการหม้่นขัดเกลาจิตใจของตนเอง ปัญหาสำคัญมันอยู่ที่ว่าทุกคนต้องการที่จะมีบุญ อยากได้บุญ แต่ขี้เกียจทำบุญ จึงไม่สามารถสัมผัสบุญแท้ได้อย่างแท้จริง มัวนั่งนอนกินแต่บุญเก่า สุดท้ายก็กลายเป็นคนหมดบุญ ความทุกข์ความเดือนร้อนก็ตามมาทัน บุญเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นรากฐานของชีวิต เปรียบเสมือนรากแก้วของต้นไม้ บุญบารมีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำเอง และเป็นผลเฉพาะตัว ฉะนั้นหากเรามัวยืนเฉยๆอยู่กับที่ แล้วบุญบารมีจะเกิดขึ้นได้อย่างไรกัน
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

 มหากปิชาดก


            ผู้ให้ของที่พอใจย่อมได้ของทีพอใจ ผู้ให้ของที่เลิศย่อมได้ของที่เลิศ ผู้ให้ของที่ดีย่อมได้ของดี ผู้ให้ของที่ประเสริฐย่อมได้ของที่ประเสริฐ  อย่างเช่นพญาวานรโพธิสัตว์ที่ให้ของอย่างดี อย่างเลิศ อย่างประเสริฐ คือยอมสละชีวิตเป็นทาน ผลสุดท้ายก็ได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะผลแห่งการสร้างบารที่เต็มแล้วนั่นเอง ดั่งมหากปิชาดกที่ได้มีกล่าวไว้ดังต่อไปนี้ ในครั้งอดีตกาลพระโพธิสัตว์ทรงเสวยชาติเป็นพญาวานรอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ มีกำลังมากเทียบได้กับพญาช้าง5เชือก มีวานร80,000ตัวเป็นบริวาร อยู่มาวันหนึ่งพญาวานรและเหล่าบริวารทั้งหลายพากันไปปีนไต่เก็บผลมะม่วงบนต้นกินกัน มีผลมะม่วงสุกผลหนึ่งได้หล่นลงไปในแม่น้ำคงคา กระแสน้ำได้พัดพาผลมะม่วงนั้นไปติดตาข่ายที่พระราชาพาราณาสีขึงไว้ในขณะกำลังเล่นน้ำ เมื่อพระราชาทรงเสด็จขึ้นจากน้ำ เหล่าทหารก็ทำการกู้ตาข่ายขึ้นได้เห็นผลมะม่วงสุกลูกนั้น จึงได้นำไปถวายพระราชา พระราชาทรงเสวยมะม่วงสุกลูกนั้น ปรากฏว่าทรงโปรดเป็นอย่างมากในรสชาติของมะม่วงนี้ จึงสอบถามถึงแหล่งที่อยู่ของต้นมะม่วง พอทราบจึงรับสั่งให้เหล่าทหารช่วยกันต่อเรือแพขึ้นแล้วทวนกระแสน้ำไปตามทางที่อยู่ของต้นมะม่วง เมื่อเสด็จถึงแล้วได้ตรัสให้มหาดเล็กเข้าไปเก็บมะม่วงมาให้เสวย แล้วรับสั่งว่าพรุ่งนี้ให้ไปหาเนื้อวานรมา เราจะกินกับมะม่วง 
          พระโพธิสัตว์ได้ฟังเช่นนั้นคิดว่าภัยคงมาถึงแล้ว ครั้นจะคิดหนีลงมาทางด้านล่างของต้นมะม่วงก็ไม่ได้ ครั้นจะกระโดดหนีข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งก็จะหนีได้เพียงตนตัวเดียวเท่านั้น จึงตัดสินใจปีนขึ้นไปบนยอดของต้นมะม่วงแล้วกระโดดข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง แล้วเอาเถาวัลย์ผูกกับต้นไม้ให้สูงพอประมาณ ส่วนอีกข้างผูกไว้ที่เอวของตนแล้วกระโดดกลับใช้มือยึดกิ่งต้นมะม่วงไว้ให้แน่น แล้วบอกให้เหล่าบริวารวานรทั้งหลายของตนเดินเหยียบหลังตนหนีไป บริวารทั้งปวงได้เดินไต่ตามตัวของพระโพธิสัตว์ข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามอย่างปลอดภัย เหลือเพียงวานรตัวสุดท้ายตัวเดียวเท่านั้นที่เป็นอันธพาล (ชาติก่อนคือพระเทวทัต) โกรธวานรโพธิสัตว์ที่ได้พร่ำสอนธรรมะอยู่อย่างเนืองนิตย์ ได้กระโดดเหยียบลงบนหลังพญาวานรอย่างสุดแรง ทำให้พญาวานรนั้นบาดเจ็บ ไม่สามารถขยับหนีไปไหนได้
         ฝ่ายพระราชาเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง จึงรับสั่งให้นำพญาวานรลงมารักษาและให้อาหาร จากนั้นพระราชาจึงตรั้สถามพญาวานรว่า ท่านเป็นอะไรกับวานรทั้งหลายเหล่านั้นถึงได้ยอมสละร่างกายของตนเพื่อเป็นสะพานให้วานรเหล่านั้นเหยีบข้ามไป ทั้งที่ท่านจะหนีเอาต้วรอดไปได้แต่เพียงผู้เดียวกลับไม่หนี วานรโพธิสัตว์จึงได้กราบทูลเป็นโอวาทว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นหัวหน้าและผู้ปกครองฝูงวานรทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อบริวารทั้งหลายเป็นทุกข์เพราะกลัวพระองค์จะทำอันตราย ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้ทำดังที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็น ต้องทำให้เขาเหล่านั้นพ้นภัย ถึงแม้ข้าพระพุทธเจ้าจะถูกประหารหรือถูกจองจำก็ยินดี เพราะว่าเขาเหล่านั้นได้ยินยอมยกให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นหัวหน้าเป็นนายฝูงเขา ก็หวังให้ช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้เขาโดยทั่วหน้า เหมือนอย่างพระองค์ทรงเป็นพระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงปรีชา พระองค์ก็ต้องแสวงหาความสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์ตลอดถึงสัตว์พาหนะนักรบทั้งหลาย หากพระองค์เสวยสุขเหนือความทุกข์ยากของพสกนิกร จะเป็นการสมควรหรือ พระองค์ก็ต้องทรงช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรทั้งหลาย
              เมื่อกล่าวจบ ด้วยความบอบช้ำ พญาวานรก็สิ้นใจลงตรงนั้น ฝ่ายพระราชารู้สึกซาบซึ้งในคุณธรรมของพญาวานร จึงนำสรีระกลับไปในเมือง ให้ถวายพระเพลิงเหมือนกับกษัตริย์ และทรงนำอัฐไปบรรจุในสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นบนทางสี่แพร่ง เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างอันดีของผู้เป็นหัวหน้าของคนทั้งหลายสืบต่อไป


      สร้างดีให้พร้อม เติมดีให้เต็ม กันชั่วไม่ให้เกิด ลดชั่วให้หมดไป ใจก็เป็นสุข
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย

 สุบินกุมาร
 


          คนมีปัญญาดีไม่ประมาทในเมื่อผู้อื่นประมาท มักตื่นในเมื่อผู้อื่นหลับ ย่อมละทิ้งคนนั้น เหมือนม้าฝีเท้าเร็วทิ้งม้าไม่มีกำลังไปฉะนั้น ดังเช่นสุบินกุมารผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ละทิ้งมารดาของตนผู้ไม่มีจิตศรัทธาออกบวช ดังได้มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก    
            ในสมัยพุทธกาลสุบินกุมารมีบิดาเป็นนายพรานล่าสัตว์ป่า ต่อมาบิดาได้ถึงแก่ความตาย มารดาจึงได้นำสุบินกุมารที่มีอายุเพียงแค่8ขวบไปฝากกับหลวงตาที่วัด สุบินกุมารเป็นผู้มีบุญ มีจิตเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา คิดอยากจะบวช แต่หลวงตาไม่ยอมบวชให้ บอกกับสุบินกุมารว่าจะบวชให้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาติจากมารดาก่อน สุบินกุมารจึงไปบอกกับมารดาเพื่อขอบวช พอมารดาได้ยินเช่นนั้นรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะอยากให้บุตรของตนเป็นนายพรานล่าสัตว์ป่าเหมือนกับสามีของนาง จึงไม่อนุญาติให้บวช สุบินกุมารเสียใจร้องให้วิ่งกลับไปหาหลวงตา หลังจากนั้นจึงคิดหาวิธีที่จะทำให้มารดาอนุญาติให้บวช ก็คิดออก จึงเดินกลับไปหามารดาอีกครั้ง แล้วพูดว่า ถ้าถ้าแม่ไม่อนุญาติให้บวชก็จะยอมอดอาหารตาย พอมารดาได้ฟังเช่นนั้นก็รู้สึกเสียใจและโกรธมาก จึงได้ไล่บุตรชายและพูดด้วยความโมโหว่า เจ้าจะไปไหนก็ไปเถิด ไม่อยากเห็นหน้าเจ้าอีกแล้ว พอสุบินกุมารได้ฟังเช่นนั้นก็ดีใจนึกว่ามารดาของตนอนุญาติให้บวชได้ ก็รีบวิ่งกลับไปหาหลวงตาที่วัดทันที บอกกับหลวงตาว่าแม่อนุญาติให้บวชแล้ว หลวงตาจึงบวชให้
         เช้าวันหนึ่งสุบินกุมารสามเณรน้อยได้ออกบิณบาตผ่านหน้าบ้านมารดา นางเห็นสามเณรบุตรชายของตน รู้สึกเสียใจมากยิ่งขึ้น นางเห็นจีวรสีเหลืองที่สามเณรห่มอย่างติดตา และมีใจที่ไม่ยินดีเลย ที่บุตรชายของตนได้บวช
อยู่มาวันหนึ่งนางได้เข้าไปตัดไม้ในป่าเพื่อทำฟืนขาย เกิดเหนื่อยมากแทบขาดใจ จึงล้มลงที่ใต้ต้นไทร หมดสติ นายนิรยบาลได้มาจับแขนหิ้วนางไปพบพยายมราช พยายมราชได้ถามนางว่าอยู่ในเมืองมนุษย์ได้ทำกรรมดีอะไรไว้บ้างหรือไม่ นางนึกไม่ออก ตอบไม่ได้ พยายมราชจึงสั่งให้นายนิรยบาลจับนางไปโยนลงในกระทะทองแดง นายนิรยบาลก็ลากนางไปถึงกระทะทองแดงซึ่งมีเปลวไฟลุกโชติช่วงอยู่ นางเห็นเปลวไฟดังกล่าวก็เกิดนิมิตเห็นเหมือนกับผ้าจีวรสีเหลืองที่สามเณรบุตรชายของตนห่ม เกิดกุศลจิด
          พอนายนิรยบาลจับนางโยนลงไปในกระทะทองแดง ก็เกิดดอกบัวผุดขึ้นรองรับ นายนิรยบาลจับนางโยนลงไปในกระทะทองแดงถึง3ครัง ก็มีดอกบัวผุดขึ้นรองรับทั้ง3ครั้ง นายนิรยบาลจึงนำนางกลับไปเฝ้าพยายมราชอีกครั้ง พยายมราชจึงถามนางว่าเธอต้องมีกุศลจิตเกิดขึ้นแน่ ไฟจากหม้อกระทะทองแดงถึงทำอะไรเธอไม่ได้ นางจึงบอกว่าพึงนึกขึ้นได้ว่ามีบุตรชายบวชเป็นสามเณรอยู่ พยายมราชจึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นเธอยังมีกุศลจากการที่ได้เห็นลูกชายครองผ้าเหลืองบวชเป็นสามเณรอยู่ บอกว่านางยังไม่ถึงเวลาตาย จึงสั่งให้นายนิรยบาลเอาตัวกลับไปเข้าร่างเดิม  
           พอนางฟื้นขึ้นมา นางจำความได้ จึงคิดว่านี่ขณะเราไม่ยินดี ไม่อนุญาติให้บุตรชายบวชเรายังได้รับอนิสงส์ที่มากมายถึงเพียงนี้ ถ้าหากเรายินดีและอนุญาติให้บุตรชายบวช เราจะได้รับอนิสงส์มากมายเพียงใด หลังจากนั้นนางก็มีใจเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง
         ฉะนั้นจะเห็นกันได้ว่าชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายเป็นแน่แท้ ผู้มีปัญญาไม่ควรประมาท ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญเพียงเล็กน้อยจะไม่ให้ผล แม้หยาดน้ำยังเต็มหม้อน้ำฉันใด บุญที่เราสั่งสมอยู่บ่อยๆ ย่อมเต็มเปรี่ยมได้ด้วยบุญฉันนั้น จงพึงทำความพอใจในบุญนั้น และพึงกระทำอยู่บ่อยๆเหมือนดั่งเช่น ช่างดอกไม้ที่ร้อยพวงมาลัยได้มากมายจากกองดอกไม้กองหนึ่งฉันใด คนเราเกิดมาแล้วก็ควรสร้างความดีงามให้มากฉันนั้น เพราะการเจริญขึ้นแห่งบุญนั้นย่อมนำมาซึ่งความสุขและจะเป็นมิตรที่ติดตามตัวไปในเบื้องหน้า

 บุญทำกรรมแต่งคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิต ดวงชะตามิใช่ฟ้าดินเป็นผู้ลิขิต ทั้งถูกและผิด เราลิขิตชีวิตต้วเองเต็มความอบอุ่นลงไปในจิตใจซึ่งกันและกันด้วยความผูกพัน 
ปรัชญาชีวิตจาก...สุธี ศรีพระรัตนตรัย